รายละเอียดบทคัดย่อ


เมธี เอกะสิงห์, ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์ และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ. 2532. ระดับชั้นของระบบการผลิตพืชกับการระบุปัญหาด้านเขตกรรม: กรณีถั่วเหลืองในเขตชลประทาน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.68-82.

บทคัดย่อ

         ระบบการเกษตรมีองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์กันและส่งผลถึงปริมาณและคุณภาพของผลผลิตของระบบนั้น ถึงแม้จำนวนองค์ประกอบในระบบจะมีมากมายและสลับซับซ้อน แต่สามารถจัดองค์ประกอบเหล่านั้นให้เป็นลำดับชั้น โดยแต่ละลำดับชั้นมีสิ่งที่เข้ามาในระบบ กระบวนการและผลลัพธ์ที่ชัดเจน ในการที่จะเลือกศึกษาระดับชั้นใด จะต้องทราบถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัยหรือพัฒนาให้แน่ชัดเสียก่อน จากนั้นจึงเน้นศึกษาระบบในระดับชั้นที่มีผลลัพธ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์มากที่สุด พร้อมทั้งศึกษาระดับชั้นที่สูงขึ้นไปหรือต่ำลงมาจากระดับชั้นที่เน้นอย่างน้อยอย่างละหนึ่งระดับชั้น รายงานนี้จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการศึกษาระบบการผลิตถั่วเหลือง เพื่อระบุปัญหาด้านเขตกรรมอันจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตให้สอดคล้องกับทรัพยากรในไร่นาในเขตชลประทานในจังหวัดเชียงใหม่ โดยพิจารณาระดับชั้นต่างๆ ของระบบการผลิต และแสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในแต่ละระดับชั้นเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม รายงานนี้จะเน้นการศึกษาระดับแปลงเกษตรกรมากกว่าระดับอื่น รวมทั้งอภิปรายถึงผลที่ได้จากการศึกษาระดับนี้ไปช่วยระบุปัญหาในการผลิตและการปรับปรุงการผลิตถั่วเหลืองในระดับชั้นที่สูงขึ้น