รายละเอียดบทคัดย่อ


ไพโรจน์ สุวรรณจินดา, นิชัย ไทพาณิชย์, สุวรรณ หาญวิริยะพันธุ์, หัสไชย บุญจูง, วิชาญ วอทอง, ประชา เดือนดาว, สมเพชร กาทุ่ง และ Ed.B.Pantastico. 2529. การขยายการผลิตขั้นทดลองในพื้นที่เป้าหมายของโครงการเกษตรในเขตน้ำฝน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 3 : . ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2529 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่.  น.447-462.

บทคัดย่อ

         โครงการเกษตรในเขตใช้น้ำฝนของสถาบันวิจัยการทำฟาร์ม ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก UNDP และ FAO สำหรับปี พ.ศ. 2524 - 2530 ทำการวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์มในเขตนิเวศน์เกษตรต่าง ๆ งานที่ค่อนข้างประสบผลสำเร็จได้แก่ ด้านการทำนาหยอด และการปลูกถั่วเขียวก่อนข้าวในเขตใช้น้ำฝน งานวิจัยการทำนาหยอด ทดลองทำในเขตอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งมีอากาศแปรปรวน ให้ผลผลิตต่อไร่ดีกว่า และต้นทุนต่ำกว่าวิธีทำนาดำของเกษตรกรเอง งานวิจัยระบบการปลูกถั่วเขียว - ข้าว ทดลองในเขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลเป็นที่พอใจ จึงได้ขยายไปทำการทดสอบในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกันพบว่า เป็นระบบที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว และเกษตรกรมีความเห็นว่าจะช่วยการเตรียมปลุกข้าวให้ง่ายขึ้น ลดจำนวนวัชพืชในนาและข้าวเจริญเติบโตได้ดี ผลการวิจัยด้านชีวภาพ กายภาพ เศรษฐศาสตร์และสังคม แสดงถึงแนวโน้มที่ดีของการปลูกพืชสองระบบนี้ โครงการฯ จึงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเกษตร ได้ตกลงขยายการทดสอบไปยัง 4 จังหวัดคือ พะเยา เชียงราย ลำปาง และพัทลุง ผลเป็นที่พอใจ ยกเว้นระบบ ถั่วเขียว ข้าว ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีปัญหาฝนตกหนักในช่วงฤดูถั่วเขียว ต่อมาได้ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. เพื่อวางแผนขยายการทดลองออกไปอีกในจังหวัดเดิม และเพิ่มจังหวัดแพร่เข้ามา และเพื่อการศึกษาถึงองค์กรที่จะช่วยด้านบริการปัจจัยการผลิตที่จำเป็นก่อนจะส่งเสริมในวงกว้างต่อไป สำหรับการขยายการผลิตในขั้นทดลองปีแรก พบว่ายังต้องปรับปรุงแก้ไขด้านสินเชื่อการเกษตรแหล่งเมล็ดพันธุ์ การติดตามประสานงานและการถ่ายทอดวิชาการ