รายละเอียดบทคัดย่อ


ไพโรจน์ สุวรรณจินดา, ชนวน รัตนวราหะ, ประเสริฐ สุระกุล, ปกรณ์ อุทัยพันธุ์, รัศมี คีรีทวีป และ พนัก วรรณเชื้อ. 2532. วนเกษตรนำไปสู่การเกษตรพึ่งตนเอง : กรณีศึกษาที่ท่าฉาง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.172-179.

บทคัดย่อ

         ปัญหาของความเสื่อมโทรมของพื้นที่ทำการเกษตรและปัญหาประกอบการเกษตรในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากการขาดสมดุลกันระหว่างพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น การนำหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาด้านการเกษตรที่ว่างงานอยู่ให้หันมาประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อเป็นแกนนำในการร่วมพัฒนาการเกษตรของประเทศต่อไปในอนาคต โดยการจัดสรรที่ดินของพื้นที่ของหน่วยสหกรณ์นิคมท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกษตรกรก้าวหน้าที่ไม่มีที่ดินที่ทำกินคนละ 20 ไร่ จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะสภาพพื้นที่ที่จัดสรรให้นั้น แม้ต้นไม้ใหญ่จะมีน้อยแต่มีสภาพป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดและลอนชัน มีความลาดชันประมาณ 3-8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากไม่มีการเข้าไปรบกวนอีกประมาณ 20 ปี พื้นที่ป่าแห่งนี้น่าจะฟื้นตัวในสภาพป่าที่สมบูรณ์ได้อีกแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานและแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน การให้เกษตรกรก้าวหน้า 150 รายใช้พื้นที่ป่า 3,000 ไร่ ประกอบการเกษตรก็อาจจะมีความจำเป็น แต่การจัดระบบการปลูกพืชก็ควรคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมไว้และการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด การแผ้วถางป่าให้คนละ 10 ไร่เพื่อใช้เป็นที่อยู่และสระน้ำ 2 ไร่ และปลูกยางพารา 8 ไร่ ได้ดำเนินการไปแล้ว สภาพการตกของฝนในภาคใต้ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง และการแพร่กระจายของวัชพืชอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีการเบิกป่า โดยที่เกษตรกรก้าวหน้ามีแรงงานครอบครัวอยู่เพียง 1 คน และเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลชุมชน ขาดแรงงานจ้าง ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ปัญหาคือทำอย่างไรกับพื้นที่ที่เหลือคนละ 10 ไร่ และเกษตรกรก้าวหน้าจะยังชีพได้อย่างไรโดยไม่มีหนี้สินมากมาย ในการลงทุนทำการเกษตรในขั้นเริ่มต้นของชีวิต ระบบการปลูกป่านาไร่ รูปแบบหนึ่งของวนเกษตรน่าจะเป็นคำตอบที่ดีคำตอบหนึ่ง ซึ่งก็ได้มีการดำเนินงานทดลองในพื้นที่หน่วยสหกรณ์นิคมท่าฉางในเนื้อที่ 10 ไร่ ผลการปลูกพืชที่สามารถทนต่อสภาพร่มเงาได้โดยการปลูกแซมลงในป่าธรรมชาติในรอบ 1 ปี ปรากฏว่า โกโก้ สะตอ เหรียง ขนุน สะเดา นุ่น และสับปะรด เป็นพืชที่แสดงแนวโน้มที่ดีว่า สามารถปรับตัวเจริญเติบโตได้ดีในสภาพของระบบวนเกษตรที่ทำการทดสอบพื้นที่ โครงการเกษตรก้าวหน้าที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี