รายละเอียดบทคัดย่อ


กนก คติการ และ ยงยุทธิ์ แฉล้มวงษ์. 2532. การศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการใช้ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค) สำหรับการวางแผนการกระจายการผลิตในระดับไร่นา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.293-315.

บทคัดย่อ

         วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ 1) เพื่อวิเคราะห์และหารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้ข้อมูล กชช. 2คเพื่อการวางแผนการกระจายการผลิตในระดับไร่นา 2) เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแบบสอบถาม กชช. 2ค ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตรเพื่อใช้ในการสำรวจครั้งต่อไป และ 3) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูล กชช. 2ค ที่ได้สำรวจไว้แล้ว ให้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในการศึกษาครั้งนี้ใช้หลักการวิเคราะห์แนวทางการกระจายการผลิตในระดับไร่นา โดยพิจารณาจากกิจกรรมในไร่นา ทั้งกิจกรรมที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการบริโภค กิจกรรมที่ผลิตเพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะสั้น และกิจกรรมที่ลงทุนแล้วให้ผลผลิตระยะยาวเกิน 1 ปี ใช้พื้นที่ของจังหวัดชัยนาทและฉะเชิงเทรา ในการศึกษาซึ่งแบ่งพื้นที่เกษตรก้าวหน้า ปานกลางและล้าหลัง ผลการศึกษาพบว่า1) ข้อมูล กชช. 2ค สามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอื่น เช่น แผนที่ ลักษณะดินและสมรรถนะดินใช้ข้อมูล กชช 2ค ที่ได้วิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตมาตรวจสอบได้2) สามารถนำข้อมูล กชช. 2ค มาวิเคราะห์ด้านชีวภาพ เศรษฐกิจ-สังคม ในแต่ละพื้นที่ได้3) เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับประสิทธิภาพการผลิตพืชอายุสั้น สามารถทราบถึงปริมาณการผลิตในแต่ละพื้นที่และการกระจายการผลิต หากยังต้องการข้อมูลด้านต้นทุนการผลิตสินค้าการเกษตร และการระบุชนิดพืชในการสำรวจ กชช. 2ค ให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น4) ข้อมูล กชช. 2ค สามารถนำมาประเมินการกระจายการผลิตในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดประโยชน์จาก กชช. 2ค มากขึ้น ควรนำข้อมูล กชช. 2ค มาหาค่าทางสถิติเพื่อพิจารณาประสิทธิภาพการผลิตพืชแต่ละชนิด แต่ละหมู่บ้าน ข้อมูลด้านกายภาพและข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรน่าจะได้ใช้ระบบ Geographic Information System (GIS) เก็บบันทึก ควรจัดทำโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนฟาร์มและแผนงบประมาณฟาร์มเป็นรายครัวเรือนเพื่อใช้ระดับจังหวัด และจำเป็นต้องพัฒนาระบบข่าวสารการตลาดให้ถึงมือผู้เกี่ยวข้องระดับพื้นที่เพราะจะมีผลอย่างมากต่อการวางแผนการผลิตระดับไร่นา