รายละเอียดบทคัดย่อ


กนก ผลารักษ์, สุจินต์ สิมารักษ์, ประพาส นวนสำลี และ สุเธียร นามวงศ์. 2533. การศึกษาการตอบสนองของเกษตรต่อโปรแกรมวัคซีนแบบปรับใช้เฉพาะพื้นที่: อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และอำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.467-475.

บทคัดย่อ

         การศึกษานี้ เป็นการวิจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ซึ่งโครงการวิจัยระบบการทำฟาร์มได้พยายามปรับโปรแกรมวัคซีน ให้ง่ายและเหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงไก่ของเกษตรกรในแต่ละท้องที่ การศึกษาครั้งนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายการทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมวัคซีนที่ปรับใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งหารูปแบบการส่งเสริมด้วยสมมติฐานหลักที่ต้องการจะทดสอบคือ การให้เกษตรกรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนเป็นอย่างดี รวมทั้งการจัดให้มีวัคซีนประจำอยู่ในหมู่บ้านตลอดเวลา จะทำให้เกษตรกรยอมรับวัคซีน คณะผู้วิจัย ซึ่งทำงานร่วมกันเป็นทีมในลักษณะสหวิทยาการ ได้ดำเนินการวิจัยใน 8 หมู่บ้าน ของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดหนองคาย ในการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้วิธีประเมินสภาวะชนบทอย่างเร่งด่วน (Repid Rural Appraisal) เป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าใจ การตอบสนองของเกษตรกรต่อโปรแกรมวัคซีนแบบปรับใช้ และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการยอมรับของเกษตรกร ผลจากการศึกษาพบว่า การจัดให้มีวัคซีนจำหน่ายในหมู่บ้านตอดเวลานั้น มีความเป็นไปได้ยากมากเกษตรกรโดยทั่วไปเห็นว่า กิจกรรมการเลี้ยงไก่มีความสำคัญน้อยกว่ากิจกรรมการทำฟาร์มอื่น ๆ ที่กระทบกันอยู่ นอกจากนี้ ระบบการเลี้ยงไก่ทีเป็นอยู่ของเกษตรกรจัดได้ว่า เป็นระบบที่มีเสถียรภาพ (stable) ถาวรภาพ (sustainable) สูง สภาพระบบการเลี้ยงไก่หลังบ้านของเกษตรกรในชมบทค่อนข้างจะมีจะมีความสอดคล้องและเหมาะสมดีแล้วกับวัตถุประสงค์ในการเลี้ยง ปัจจัยด้านเงินทุน แรงงานและเวลา กิจกรรมการเกษตรและนอกการเกษตร รวมทั้งบริบททางวัฒนธรรม (cultural context) ของเกษตรกร โดยทั่วไป เกษตรกรจึงไม่ต้องการที่จะลงทุนเพิ่ม หรือใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดดังนั้นการพัฒนาหรือส่งเสริมงานไก่พื้นเมือง จึงจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความเป็นมาในลักษณะและเงื่อนไขของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดีด้วย