รายละเอียดบทคัดย่อ


ณัฐ เทศัชบุตร และ เชิดชาย สมิโตบล. 2532. การเปรียบเทียบการจัดการดินและน้ำสำหรับการปลูกถั่วเหลืองในไร่นาเกษตรกร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.204-212.

บทคัดย่อ

         รายงานการทดลองนี้เป็นของงานวิจัยการจัดการดินและน้ำ สำหรับโครงการพัฒนาน้ำใต้ดินเพื่อการชลประทาน จ. สุโขทัย ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทานสำหรับการปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งได้ถูกวิเคราะห์อย่างละเอียด จากข้อมูลทุกชนิดที่หาได้ เช่น จากการสัมภาษณ์เกษตรกรและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอศรีนคร นิคมสหกรณ์ศรีนคร และโครงการพัฒนาน้ำใต้ดินเพื่อการชลประทาน จ. สุโขทัย นอกจากนี้รายงานการวิเคราะห์โครงการฯ โดยสำนักงานเศรษบกิจการเกษตรเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเข้าใจปัญหาในลักษณะการมองภาพรวมของโครงการ งานทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากจะเป็นการทดลองหาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกถั่วเหลือง โดยให้น้ำชลประทานในสภาพเกษตรกรแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งสาธิตและฝึกอบรมให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความชำนาญในการจัดการดินและน้ำสำหรับถั่วเหลืองอีกด้วย ในงานทดลองที่ผ่านมา วิธีการให้น้ำชลประทานหลานชนิด หลายระดับความยากง่ายที่ปฏิบัติตามพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศได้ถูกนำมาทดลองค้นคว้า ทดสอบความเหมาะสมสำหรับสภาพของเกษตรกร เช่น การให้น้ำโดยใช้ Springler รองลูกฟูกขนาดต่างๆ ที่ระดับความลาดเทต่างๆ กัน วิธีการให้น้ำ border irrigation และ flooded basin ในขนาดพื้นที่แปลงและอัตราการไหล (Q) ของน้ำต่างๆ กัน การให้น้ำในปริมาณและช่วงระยะเวลาระหว่างการให้น้ำต่างๆ กัน การเขตกรรมระดับต่างๆ เช่น ความลึก และความละเอียดของการไถพรวนต่างๆ ตลอดจนการทดลองที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ความเหมาะสมของพื้นที่ต่อถั่วเหลืองพันธุ์ต่างๆ ความหนาแน่นของประชากรถั่วเหลืองที่เหมาะสม การกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมทั้งการใช้เครื่องปลูกชนิดต่างๆ และวิธีปลูกต่างๆ กัน เหล่านี้เป็นต้น รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า การปลูกถั่วเหลืองโดยไม่มีการไถพรวน ปลูกด้วยเครื่องปลูกชนิด Inverted-T และให้น้ำทุก 20 วัน รวม 5 ครั้ง มีความได้เปรียบต่อการปลูกถั่วเหลืองโดยวิธีหว่าบนดินที่มีการไถพรวนตามปกติ และให้น้ำทุก 25 วัน รวม 4 ครั้ง อันเป็นวิธีที่เกษตรกรในพื้นที่โครงการส่วนมากปฏิบัติกัน นอกจากนี้แล้วยังได้ศึกษาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำผลการทดลองไปใช้ในโครงการและพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย