รายละเอียดบทคัดย่อ


นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์. 2531. บทบาทของสตรี เด็ก และผู้สูงอายุในกิจกรรมเกษตรและอื่นๆ ของครัวเรือน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.302-317.

บทคัดย่อ

         ในระบบการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝน แรงงานครอบครัวทุกเพศและวัยยังเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในระบบการผลิตการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอ ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดสรรแรงงานของครัวเรือนในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง และการเก็บหาอาหารธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้หรือลดรายจ่าย ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ได้มาจากข้อมูลที่รวบรวมระดับครัวเรือนจากเกษตรกร 17 ครอบครัวจากหมู่บ้านหินลาด ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างมีการเพาะปลูก 2527/2528 ผลการศึกษาพบว่าระหว่างปีการเพาะปลูก ร้อยละ 70 ของเวลาของเวลาของแรงงานสตรี ซึ่งอยู่ในวัยแรงงาน (14 - 65 ปี) ได้ใช้ไปในการเพาะปลูก ในสัดส่วนที่ใกล้เยงกับแรงงานชายมาก (ร้อยละ 37 : ร้อยละ 34) ของเวลาทำงานแต่ละกลุ่ม ส่วนการเลี้ยงสัตว์ พบว่าแรงงานหญิงใช้ไปในการเลี้ยงโค กระบือ น้อยกว่าแรงงานชายมาก เนื่องจากลักษณะการเลี้ยงยังเป็นแบบการปล่อยไปตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรมีพื้นที่เพียงพอที่จะเลี้ยงสัตว์ใหญ่ แรงงานหญิงอาจได้รับจัดสรรหน้าที่ในการดูแล เลี้ยงสัตว์ใหญ่ได้ ดังเสนอในกรณีศึกษาจากครัวเรือนแบบขยายหนึ่งครัวเรือนในรายงาน นอกจากนี้แรงงานหญิง ยังใช้ไปในการรับจ้างค้าขาย และหัตถกรรมในครัวเรือน ถึงร้อยละ 17 ของเวลาทำงานทั้งหมด แรงงานเด็กส่วนใหญ่ใช้ไปในการช่วยครอบครัวเลียงสัตว์ใหญ่ในช่วงวันหยุด รวมทั้งช่วยงานเพาะปลูกถึงร้อยละ 25 ของเวลาทำงาน นอกจากนี้ยังช่วยครอบครัวในการเก็บพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ รวมทั้งเข็นน้ำนำมาใช้ในฤดูแล้ง ถึงแม้ว่าเวลาทำงานเหล่านี้จะนับเป็นสัดส่วนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานอื่น ๆ แต่ก็นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำงาน ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปใช้เวลาไปในการเลี้ยงสัตว์ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 ของเวลาทำงาน ขณะที่ร้อยละ 3 เท่านั้นที่ใช้ไปในการเพาะปลูก ซึ่งแม้จะใช้ไปเวลาน้อย แต่งานที่ทำนับว่ามีความสำคัญมากกล่าวคือ เกษตรกรใช้เวลาในการดูแลสภาพน้ำในนา ซ่อมคันนา ซึ่งมีผลต่อผลผลิตข้าวอย่างมาก จากผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรมีการจัดสรรหน้าที่ระหว่างสมาชิกค่อนข้างชัดเจนตามกลุ่มต่าง ๆ เมื่อพิจารณาการจัดสรรแรงงานระหว่างชายและหญิงในวัยแรงงานเกษตรหญิงมีส่วนในการเพาะปลูกสูง ขณะที่แรงงานหญิงในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ยังมีน้อย แต่ก็สามารถทดแทนกันได้เมื่อมีความจำเป็น ดังนั้นเจ้าหน้าที่การเกษตรที่ปฏิบัติงานร่วมกับเกษตรกรจำเป็นต้องสังเกตลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานของครัวเรือน เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีไปสู่บุคคลที่รับหน้าที่นั้นจริง