รายละเอียดบทคัดย่อ


นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์ และ วิไลวัจน์ กฤษณะภูติ. 2534. เกษตรกรสตรีกับการจัดตั้งในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระบบการทำฟาร์มผสมผสาน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 8 :สู่ระบบการเกษตรที่ยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2534 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่.  น.299-311.

บทคัดย่อ

         กระบวนการพัฒนาในปัจจุบันได้เน้นองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ การพัฒนาองค์กรชุมชนและเร่งพัฒนาทรัพยากรคน โดยเฉพาะเกษตรกรสตรี บทความนี้เป็นเพียงสำรวจสถานะความรู้ที่มีอย่ปัจจุบันเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการดังกล่าวขอบเขตการศึกษาจำกัดเฉพาะองค์กรชุมชนที่เป็นทางการในระดับหมู่บ้าน และศึกษาเฉพาะท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานะความรู้ได้รวบรวมจากการศึกษาที่มีอยู่แล้วและสอบถามเกษตรกร ผู้นำและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่าองค์กรชุมชนที่จัดตั้งเพื่อการพัฒนาในระดับหมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความแตกต่างไปในแต่ละท้องที่ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ องค์กรชุมชนหรือกลุ่มที่เป็นทางการอาจจำแนกเป็นกลุ่ม คณะปกครองชุมชนซึ่งส่วนมากจะมีสมาชิกเป็นชาย กิจกรรมพัฒนาสตรีได้แยกเป็นองค์กรเฉพาะโดยสองหน่วยงานคือ กรมพัฒนาชุมชนจัดตั้งกลุ่มสตรี ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ส่วนกลุ่มที่มีสมาชิกหญิงและชายร่วมทำงานได้แก่ กลุ่มเยาวชนของกรมพัฒนาชุมชนและกลุ่มยุวเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรและกลุ่มยุวเกษตรกรมีการประสานงานกันค่อนข้างดี เนื่องจากมีผู้รับผิดชอบคนเดียวกันคือเจ้าหน้าที่เคหกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร กิจกรรมของสตรีในกลุ่มทางการจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวมีลักษณะซ้ำซ้อน เกษตรกรสตรีส่วนใหญ่มีบทบาทจัดตั้งน้อยมาก ส่วนมากการริเริ่มเกิดจากผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันโดยทางราชการ นอกจากนี้เกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมกิจกรมกลุ่มยังคงจำกัดเพียงครอบครัวที่มีฐานปานกลางหรือฐานะดี ศักยภาพเพื่อการพัฒนาการเกษตรพบว่า เกษตกรสตรีมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมมากเมื่อเป็นสมาชิกยุวเกษตรกรซึ่งไม่ได้แยกการทำงานเป็นหญิงsหรือชายและสถานภาพโสด ทำให้เกษตรกรสตรีสามารถเข้ารับการอบรมหลายประเภท นอกจากนี้การจัดองค์กรพัฒนาสตรีโดยรัฐซึ่งแยกเกษตรกรหญิงและชายทำให้เกิดข้อจำกัดทั้งบุคลากรและงบประมาณของผู้ปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของเกษตรกรชาย-หญิง ในระบบการทำฟาร์มซึ่งช่วยกันทำงาน ตัดสินใจในลักษณะที่เท่าเทียมกันในระบบสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิม