รายละเอียดบทคัดย่อ


นิชัย ไทพาณิชย์, ไพโรจน์ สุวรรณจินดา, ประชา เดือนดาว, ประสงค์ วงศ์ชนะภัย และ สมเพชร กาทุ่ง. 2533. ระบบถั่วเขียว-ข้าว: ใช้แนวทางการวิจัยระบบการทำฟาร์ม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.61-91.

บทคัดย่อ

         ระบบถั่วเขียว-ข้าว เป็นงานวิจัยหนึ่งในโครงการระบบเกษตรในเขตใช้น้ำฝน ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างสถาบันการทำฟาร์ม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมปศุสัตว์ กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งได้ดำเนินการในปี 2524-2530 ทำการวิจัยและพัฒนาระบบการทำการทำฟาร์มในเขตนิเวศเกษตรต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งสามารถจะเพิ่มการผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในเขตน้ำฝร และยังเป็นการฝึกนักวิชาการให้รู้จักแนวทางการทำงานวิจัยในเชิงระบบอีกด้วย ได้ทำการวิจัยระบบการปลูกพืชหลายแบบ แต่งานที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จได้แก่ การทำข้าวนาหยอด และการปลูกถั่วเขียว-ข้าว ซึ่งได้ดำเนินการที่อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา การวิจัยใช้แนวทางการวิจัยระบบการทำฟาร์ม คือมีการเลือกพื้นที่ทำความเข้าใจกับพื้นที่เพื่อจะได้ทราบเงื่อนไข ปัญหาและโอกาสของพื้นที่ ออกแบบและเลือกเทคโนโลยีจากงานวิจัย ทำงานทดสอบในไร่นา โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมเมื่อได้ผลแล้วทำการขยายการผลิตขั้นทดลองจากนั้นจึงนำไปส่งเสริมเผยแพร่ต่อไป ผลงานวิจัยระบบการปลูกพืชถั่วเขียว-ข้าว เป็นที่น่าพอใจคือ ได้ดำเนินการที่อำเภอแม่ใจ ในปี 2525 มีเกษตรกรร่วมโครงการ 6 ราย ในเนื้อที่ 6 ไร่ และเพิ่มจำนวนขึ้นจนถึงปี 2529 เป็น 375 ไร่ ในระหว่างที่ดำเนินการอยู่ที่อำเภอแม่ใจนั้นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังอำเภอดอกคำใต้ ในปี 2528 เกษตรกรเริ่มปลูกถั่วเขียว 60 ไร่ และเพิ่มขึ้นเป็น 4,049 ไร่ในปี 2530 โครงการได้สิ้นสุดลงในปี 2530 สำนักงานเกษตรอำเภอดอกคำใต้ได้ดำเนินการขยายผลต่อไป จากการติดตามข้อมูลพบว่า ในขณะนี้ที่อำเภอดอกคำใต้ได้มีเกษตรกรปลูกถั่วเขียวก่อนข้าวมากกว่าหมื่นไร่ นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีการปลูกถั่วเขียวก่อนข้าวไปดำเนินการที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดอื่นๆอีกด้วย