รายละเอียดบทคัดย่อ


นิรันดร์ ทองพันธุ์. 2532. การเลี้ยงปลาในนาข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.116-124.

บทคัดย่อ

         โครงการเลี้ยงปลาในนาข้าวได้ทำการทดสอบและวิจัยการเลี้ยงปลาในนาข้าวในสภาพไร่นาเกษตรกรทั้งที่อาศัยน้ำฝนและเขตใช้นำชลประทานในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีและบางแห่งของจังหวัดใกล้เคียงพบว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงปลาในนาข้าว เช่น ชนิดปลา ความหนาแน่น อัตราส่วน ปุ๋ยเคมีและพันธุ์ข้าวขนาดบ่อปลาที่เหมาะสม รูปแบบการอนุบาลหรือไม่อนุบาลลูกปลาและสภาพพื้นที่การรู้ศักยภาพของพื้นที่ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงปลาในนาข้าวให้ประสบผลดีนั้น เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายผลโครงการนี้ไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นที่มีสภาพของภูมิศาสตร์แตกต่างกัน ได้มีการทดสอบขยายผลที่จังหวัดอุบลราชธานีใน 3 อำเภอที่จัดว่าเป็นตัวแทนของสภาพภูมิศาสตร์หลักของจังหวัด มีเกษตรกรร่วมทดสอบ 52 ราย โดยเฉลี่ยแล้วปลูกข้าวในพื้นที่เลี้ยงปลาในนาข้าวรายละ 2.4 ไร่พบว่า ข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ผลผลิตข้าวในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงปลานั้นเพิ่มขึ้นจากแปลงเปรียบเทียบที่ไม่เลี้ยงปลาประมารร้อยละ 15 ขึ้นไป เมื่อพิจารณาผลตอบแทนในพื้นที่ประกอบขนาดต่างๆ กันพบว่า การเพิ่มขนาดพื้นที่จะดีกว่าการเพิ่มการลงทุนในการผลิตต่อพื้นที่ซึ่งนับว่าเหมาะสมกับเกษตรกรที่ยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก การลงทุนในระดับไม่เกิน 300-400 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด การลงทุนในด้านแรงงานจะใช้มากในการปรับปรุงพื้นที่ จึงควรแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไปจะเหมาะสมกว่า เกษตรกรไม่ควรอนุบาลลูกปลานานเกิน 45 วัน