รายละเอียดบทคัดย่อ


ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์. 2539. แนวทางการผลิตส้มโชกุนอนามัยสวนเพชรลานนา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.242-246.

บทคัดย่อ

         สวนเพชรลานนา จังหวัดลำปาง เป็นแหล่งผลิตส้มโชกุน ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรใช้สรเคมีในการปราบศัตรูพืชก่อผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้สารเคมี โดยมีแนวทางการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ได้แก่ การใช้วิธีเขตกรรม ใช้สมุนไพรสกัดจากเมล็ดสะเดาเพื่อพ่นทำลายแมลงศัตรูส้ม วิธีกล ใช้กาวเหนียวดักจับแมลง ใช้สมุนไพร Bot-F ป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ เพื่อควบคุมเชื้อราและแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคพืชนอกจากนี้ยังใช้ฮอร์โมนเพศเมียของแมลงวัยทอง เพื่อล่อตัวผู้ให้มาติดกับดัก ทำให้ประชากรของแมลงวัยทองลดลง การดำเนินงานในระยะแรกมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ต้องหาสมุนไพรที่เหมาะสม ต้องลงทุนเกี่ยวกับการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือเทคนิคมาใช้ ส่วนผลผลิตที่ได้ออกมาในระยะแรกก็ยังไม่สวยงามเท่าที่ควร แต่ถึงอย่างไรก็ตามเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่ได้บริโภคสินค้าปลอดจากสารพิษซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ตรวจสอบพิษตกค้าง โดยสรุปแล้วการผลิตส้มโชกุน - อนามัยได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จที่สมบูรณ์เพราะผลผลิตบางส่วนเสียหาย และผิวส้มถูกทำลายไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ท้าทายนักวิชาการที่ต้องการค้นคว้าหาเทคโนโลยีชีวภาพที่เหมาะสมในการผลิตส้มโชกุน - อนามัย ให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคต่อไป