รายละเอียดบทคัดย่อ


ประวิทย์ ทับทิมอ่อน. 2539. การเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โครงการศึกษาพัฒนาห้วยทราย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.88-97.

บทคัดย่อ

         จังหวัดเพชรบุรีเป็นบริเวณพื้นที่เขตอับฝน ปริมาณฝนตกน้อย ปี 2538 ปริมาณฝนตกทั้งปีเพียง 897.9 มม. ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นในการปลูกพืชก็คือน้ำ ก่อนการปลูกพืชจะต้องคำนึงถึงแหล่งน้ำเป็นประการสำคัญ จะต้องเตรียมหาแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาในช่วงฤดูแล้ง มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายจากพืชขาดน้ำ เพราะการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่เป็นการจัดแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสม โดยมีแหล่งน้ำ ปลูกพืช และที่อยู่อาศัยในอัตรา 30 : 30 : 30 : 10 การเกษตรผสมผสานนั้นจะมีทั้งการปลูกพืช ข้าว ไม้ผล พืชผัก ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์และเลี้ยงปลาเพื่อให้เกิดความหลากหลายลดความเสี่ยง เกษตรกรจะอยู่รอดสามารถพึ่งตนเองได้ การทดลองเป็นการทดลองแบบไม่มีซ้ำ กรรมวิธีเป็นการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 30 : 30 : 30 : 10 ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ การปฏิบัติ 30% แรกหรือประมาณ 1.5 ไร่ ขุดบ่อลึกประมาณ 4 เมตร นำดินในบ่อขึ้นมาปรับพื้นที่ในบริเวณที่จะปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผัก บริเวณขอบบ่อ ปรับพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ชมพู่มะเหมี่ยว 30% ที่สอง ปลูกไม้ผล ได้แก่ ขนุน ระยะ 8x8 เมตร ปลูกกล้วยระหว่างแถวขนุน 4x4 เมตร ปลูกมะละกอระหว่างแถวขนุนและกล้วยระยะระหว่างต้น 4 เมตร ปลูกข้าวโพดและถั่วเขียวเป็นพืชแซมระหว่างไม้ผล และแบ่งพื้นที่ประมาณ 1 งาน ปลูกพืชผักหมุนเวียนตลอดทั้งปี 30% ที่สาม ปรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ต่ำเป็นแปลงทดลองปลุกข้าว การปลูกข้าวนั้นใช้วิธีหยอด ซึ่งเหมาะสมกับสภาพแห้งแล้ง ปริมาณน้ำน้อย ใช้พันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 2 หยอดประมาณเดือนสิงหาคม โดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว 10% ที่เหลือ เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และปลูกไม้ใช้สอย