รายละเอียดบทคัดย่อ


พงศ์พันธุ์ จึงอยู่สุข. 2539. ระบบการผลิตพืชผักบนที่สูงจะลดการใช้สารเคมีได้อย่างไร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.229-241.

บทคัดย่อ

         ปัจจุบันบริเวณพื้นที่สูงภาคเหนือ เป็นแหล่งปลูกผักต่าง ๆ หลายชนิด เนื่องจากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และภาวะอากาศที่เหมาะสม ผักที่ปลูกมีทั้งผักเมืองเหนือ เช่น ผักกาด หอมห่อ หอมญี่ปุ่น ชูกินี ถั่วแขก พริกยักษ์ และอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งระบบการปลูกอย่างครบวงจรภายใต้การควบคุมของมูลนิธิโครงการหลวง และผักที่เกษตรกรปลูกเอง แล้วขายให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ เนื่องจากพืชผักเป็นพืชที่มีแมลงศัตรูมาก โดยเฉพาะเมื่อปลูกในช่วงที่มีอากาศร้อนหรือฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชซึ่งนับวันจะมากขึ้นทุกที เนื่องจากพื้นที่สูงเป็นบริเวณแหล่งต้นน้ำ ประกอบกับเกษตรกรเป็นชาวเขาโดยทั่วไปมีความรู้น้อย จึงเกิดความวิตกกังวลในหมู่ผู้บริโภค ถึงพิษภัยของสารเคมีที่อาจตกค้างในผลผลิต และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 1 ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปดำเนินการสืบเสาะหาข้อเท็จจริง เพื่อหาทางควบคุมไม่ให้การใช้สารเคมีเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องหรือมากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสำรวจชนิดของสารเคมี การศึกษาพิศตกค้างในเลือดของเกษตรกร ในดินน้ำ และผลผลิตการเกษตร การจัดทำแปลงทดสอบสาธิต การฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ เพื่อรวบรวมแนวคิดที่หาทางบริหารจัดการการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชบริเวณพื้นที่สูงภาคเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาร้ายแรงซึ่งอาจมีขึ้นในอนาคต