รายละเอียดบทคัดย่อ


พจน์ ชุมศรี และ สันติ อุทัยพันธ์. 2534. คปพ. กับการวางแผนและพัฒนาองค์กรเกษตรกรในท้องถิ่น.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 8 :สู่ระบบการเกษตรที่ยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2534 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่.  น.324-335.

บทคัดย่อ

         คปพ. เป็นชื่อย่อของโครงการปรับปรุงระบบแผนและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งดำเนินการโดย กรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้แนวคิดการพัฒนาการเกษตรจากล่างสู่บน โดยต้องการให้เกษตรกรเป็นผู้คิดและวางแผนการผลิตการตลาดของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ภาภสนาม (เกษตรตำบล) เป็นเพื่อนคู่คิดหรือที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะทางเลือกทั้งด้านการผลิต ตลาด เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตการพัฒนา กลุ่ม ทรัพยากร และอื่น ๆ แก่เกษตรกรเพื่อตัดสินใจ ปรัชญาของ คปพ. คือ 'ให้ทางเลือกที่เหมาะสมกับเกษตรกร" โดยจัดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานพัฒนาการเกษตรไปยังส่วนภูมิภาคให้ถึงมือเกษตรกรอย่างมีระบบ สร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายและเน้นการส่งเสริมการกระจายการผลิตและรายได้ไปสู่เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสเป็นสำคัญ ทั้งนี้โดยมีแนวทางการดำเนินการดังต่อไปนี้ - สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ภาคสนาม (เกษตรตำบล) ให้สามารถวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสมแก่เกษตรกร - สนับสนุนให้มีการรวมตัวของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อรวมกันคิด วางแผนปฏิบัติและประเมินผล โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้เสนอแนะทางเลือกแก่เกษตรกร - สนับสนุนแผนการผลิตและการตลาดของเกษตรกร โดยการผสมผสานแผนงาน โครงการและกิจกรรมของรัฐ -เร่งรัดการกระจายการผลิตและรายได้แก่เกษตรกรผู้ด้อยโอกาส คือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (เกษตรกรรายย่อย) ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองต่อไป ปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญต่อผลความสำเร็จของโครงการ - ทัศนคติที่มีต่อเกษตรกรของผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของเกษตรกรทุกระดับตามแนวคิดที่ ต้องการให้เกษตรกรเป็นผู้คิด ตลอดจนการเจ้าหน้าที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากผู้ชี้นำเป็นผู้ชี้แนะตามความต้องการของเกษตรกร อีกทั้งความจริงใจของผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรอย่างมีระบบและเป็นธรรม - การให้การสนับสนุนแก่เจ้าหน้าที่ภาคสนามในทุกด้าน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานกับเกษตรกร อันจะมีผลให้เกษตรกรมีศรัทธาต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ในฐานะเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษาผู้ให้ข้อเสนอแนะ ทางเลือกต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเกษตรกรเอง -การสนับสนุนแผนการผลิตและการตลาด (แผนกลุ่ม) ของเกษตรเองโดยประสานปัจจัยการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชนเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง