รายละเอียดบทคัดย่อ


พัฒน์ วิบูลย์เจริญผล. 2539. การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับเกษตรกรในเขตภาคใต้ตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.186-195.

บทคัดย่อ

         พื้นที่การเกษตรในเขตภาคใต้ตอนบน อยู่ในเขตลมมรสุมพัดผ่านตลอดปี ทำให้มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่น ๆ ประกอบกับภูมิประเทศที่สลับไปด้วยภูเขาและที่ราบลุ่มชายฝั่งเป็นตัวกำหนดระบบการเกษตรของภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก จากพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันเรื่อยไปจนถึงพื้นที่ราบลอนลึก เหมาะสำหรับการปลูกไม้ผล และไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ ที่มีความคงทนถาวร เช่น การทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว การปลูกปาล์มน้ำมัน และกาแฟ ตลอดจนการปลูกไม้ผลต่างระดับที่สำคัญได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง เป็นต้น ปัญหาของเกษตรส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีการทำนาเพียงครั้งเดียวติดต่อกัน เป็นสาเหตุให้ดินเสื่อม ขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดการพังทะลายของหน้าดิน ซึ่งเป็นที่มาของการปลูกพืชไม่ได้ผม นอกจากนี้ พื้นที่ชายฝั่งมักเกิดปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งดินที่มีปัญหา เช่น ดินพรุ ดินลูกรัง และพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งจะรวมอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ ระบบการเกษตรที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ดอนที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ก็คือ การทำการเกษตรแบบไร่นา - สวนผสม นอกจากกจะสามารถอนุรักษ์ดิน น้ำและพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้และประหยัดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรอีกด้วย จาการวิจัยการแปรเปลี่ยนสภาพพื้นที่นาลุ่มและนาดอนบางส่วนไปเป็นร่องสวนที่มีสันร่องกว้าง 5 เมตร ท้องร่องกว้าง 4 เมตร และลึก 2 เมตร บนสันร่องทำการปลูกไม้ผลร่วมกับการปลูกพืชไร่และพืชผักแซม จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นกว่าการทำนาอย่างเดียวถึง 5 เท่าในปีแรก น้ำที่ขังในท้องร่องนอกจากจะใช้ประโยชน์ในกรปลูกพืชแล้ว ยังสามารถใช้เลี้ยงปลาได้อย่างดีอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่เหมาะกับพื้นที่ลุ่มน้ำขังและพื้นที่นาดอนที่ปลูกข้าวไม่ได้ผล ระบบการเกษตรในเขตชลประทาน การเลือกพืชปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีการจัดการที่ดี ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น จากการวิจัยระบบการปลูกพืชหลังนา เขตชลประทานที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พบว่าการปลูกแตงร้านและแตงโมที่มีการใช้เมล็ดพันธุ์ดี รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 500 กก./ไร่ และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 13 - 13 - 21 อัตรา 100 กก./ไร่ โดยทยอยใส่ทุก 5 - 7 วัน/ครั้ง ป้องกันกำจัดแมลงด้วยสารเคมีโมโนโครโตฟอส สัปดาห์ละครั้ง กำจัดวัชพืชด้วยมือ 2 - 3 ครั้ง จนกระทั่งเก็บเกี่ยวให้ผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนของค่าวัสดุสูงกว่า 6 เท่าตัว อีกทั้งการปลูกข้าวนาปีไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ให้ผลผลิตเฉลี่ย 488 กก./ไร่ และอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (410 กก./ไร่)