รายละเอียดบทคัดย่อ


มรกต อักษรสวาสดิ์, รัศมี คีรีทวีป, ศุภชัย บางเลี้ยง และ ประเสริฐ เนตรงาม. 2532. ปัจจัยการผลิตสำหรับถั่วเหลืองในที่ราบลุ่มเชียงใหม่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.213-223.

บทคัดย่อ

         ในพื้นที่ราบลุ่มเชียงใหม่มีระบบการชลประทานค่อนข้างสมบูรณ์ เกษตรกรนิยมใช้ระบบการปลูกพืช ข้าว-ถั่วเหลืองมากกึงประมาณ 1 แสนไร่ ในการนำเอาเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองไปแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติ ควรจะได้มีการศึกษาปัจจัยการผลิตในระดับต่างๆ เพื่อหาความเหมาะสมต่อเกษตรกรที่มีสภาพการผลิตทางกายภาพและเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกัน จึงได้มีการศึกษาสภาพการใช้ปัจจัยการผลิตถั่วเหลืองของเกษตรกรในที่ราบลุ่มเชียงใหม่ และปัจจัยการผลิตในระดับต่างๆ ตามลักษณะของเทคโนโลยีที่กำหนด โดยทำการศึกษาเป็นขั้นตอนคือ มีการเลือกพื้นที่เป้าหมาย การประมวลข้อมูลพื้นที่เป้าหมาย การวางรูปแบบการปลูกพืช การทดสอบระบบการปลูกพืช และการทดสอบต่างพื้นที่ จากการศึกษาในปี 2527/2528 ที่พื้นที่อำเภอหางดง พบว่า เกษตรกรใช้ถั่วเหลืองพันธุ์ สจ. 4 สจ. 5 และ สจ. 1 เป็นส่วนใหญ่ มีการใช้ปัจจัยการผลิตหลายอย่าง เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยพ่นทางใบ สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรู แต่ผลผลิตที่ได้ยังจัดว่าต่ำ คือเฉลี่ยประมาณ 228 กก./ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ใช้ปัจจัยการผลิตครบทุกอย่าง วัชพืชเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งจะเห็นได้จากมีการรายงานว่า มีวัชพืชในที่ราบลุ่มเชียงใหม่ถึง 54 ชนิด เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 93 ไม่ทำการกำจัดวัชพืชเนื่องจากมีแรงงานน้อย ส่วนการกำจัดศัตรูถั่วเหลืองนั้น เกษตรกรให้ความสำคัญมาก โดยมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดทุกราย จากผลการศึกษาจนถึงการทดสอบเทคโนโลยีต่างพื้นที่ได้ผลที่สอดคล้องกันกล่าวคือ เทคโนโลยีการผลิตที่ใช้เชื้อไรโซเบียม-ปุ๋ยพ่นทางใบ-สารเคมีกำจัดวัชพืช เป็นวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับที่เกษตกรสามารถดำเนินการได้โดยใช้ทุนไม่มากกว่าที่เคยปฏิบัติอยู่ และยังให้ผลตอบแทนการผลิตสูงสุด การใช้สารเคมีเพื่อควบคุมวัชพืชนั้นพบว่า คุ้มกับการลงทุน แต่มีเงื่อนไขที่พึงระวังคือ เกษตรกรควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปัจจัยการผลิตอย่างอื่นนั้น จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 34 กก./ไร่ แต่เมื่อคิดค่าปุ๋ยและแรงงานแล้ว พบว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นใหม่นั้นไม่คุ้มกับการลงทุน แต่เมื่อคิดค่าปุ๋ยและแรงงานแล้วพบว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่คุ้มกับการลงทุน จนกว่าถั่วเหลืองจะมีราคาตั้งแต่ 7.73 บาท ขึ้นไปเท่านั้น