รายละเอียดบทคัดย่อ


วิเชียร ศศิประภา และ ไพรัช ด้วงพิบูลย์. 2531. ผลการดำเนินธุรกิจการทำฟาร์มผสมผสานในพื้นที่เป้าหมายหลัก ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี: โครงการวิจัยและพัฒนาการทำฟาร์มในพื้นที่เป้าหมายหลัก.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.263-270.

บทคัดย่อ

         งานค้นคว้าวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่ผ่านมา ไม่เอื้ออำนวยให้ผลการค้นคว้าวิจัยและทดลองต่าง ๆ สามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรในท้องที่ได้อย่างทั่วถึง เพาะงานค้นคว้าวิจัยได้เน้นหนักกันเฉพาะในสถานีทดลองและศูนย์วิจัยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะขาดอัตรากำลัง งบประมาณ ยานพาหนะ และการสนับสนุนทางด้านนโยบาย ทำให้นักวิชาการไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร ซึ่งมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนนิเวศน์เกษตรต่าง ๆ อีกประการหนึ่ง แต่เดิมงานค้นคว้าวิจัยมักจะกระทำเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ (Discipline) หรือเพียง 2 หรือ 3 สาขาวิชา ทำให้ผลการค้นคว้าวิจัยที่ได้ไม่สามารถแก้ปัญหาในสภาพของเกษตรกรชาวนาได้อย่างสมบูรณ์ เพราะในสภาพของสถานีทดลองนั้น มีความพร้อมด้านการควบคุมปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไว้อย่างดี อาทิเช่น น้ำ โรคแมลงศัตรู และอื่น ๆ ซึ่งมักขากในสภาพพื้นที่ของเกษตรกรโดยทั่ว ๆ ไป ดังนั้นงานค้นคว้าวิจัยทดสอบ และพัฒนาในสภาพที่สมบูรณ์ตัวเอง (package) หรือวิจัยเป็นระบบไม่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นรูปสหสาขาวิชาการ ทั้งด้านการผลิต การอารักขา การจัดการฟาร์ม สภาพแวดล้อม ดิน ปุ๋ย น้ำ เครื่องทุ่นแรง ตลอดจนด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินการค้นคว้าวิจัยและทดสอบในสภาพพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งได้เลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน จึงเป็นวิธีการที่จะสามารถแก้ตรงปัญหาและลดจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมได้ เพราะเป็นการผลึกกำลังคนที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยย่อยให้มาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอันไม่อาจแก้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะมีผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่เช่นนี้ได้ หากสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่เป้าหมายใดได้ ก็จะเป็นการง่ายที่จะใช้ระบบในการทำงานเป็นทีมแก้ปัญหาในท้องถิ่นอื่น ๆ ได้ต่อไป