รายละเอียดบทคัดย่อ


วิเชียร ศศิประภา, วราภรณ์ กองแก้ว, ไพรัช ด้วงพิบูลย์, สันทราย เนียมสกุล, ศศิธร โสภาวรรณ, สำเนียง วิริยะศิริ และ วรภา งามประสิทธิ์. 2532. ผลการวิจัยและพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่เป้าหมายหลักโครงการกระจายการผลิตในระดับไร่นา ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.180-185.

บทคัดย่อ

         หน่วยวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์มสุพรรณบุรีและนักวิชาการของสถาบันวิจัยการทำฟาร์มมีแผนที่จะทำการวิจัยบทบาทในระบบการทำฟาร์ม ณ พื้นที่เป้าหมายโครงการกระจายการผลิตในระดับไร่นา ต. หนองมะค่าโมง อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี ในปลายปี 2531 เป็นต้นไป เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ได้พิจารณาร่วมกับนักวิชาการของสถาบันวิจัยหม่อนไหมถึงความเป็นไปได้ของการวิจัยและพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้น เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อเพิ่มบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการทำฟาร์ม อีกทั้งเป็นการกระจายแรงงาน ลดความเสี่ยง และเป็นการสร้างงานให้เพิ่มขึ้น เพื่อสกัดกั้นการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการบริการอื่น ๆ ในชุมชนเมือง ในต้นปี พ.ศ. 2530 ได้จัดสร้างสวนหม่อนร่วมกับเกษตรกร 6 ราย โดยใช้พันธุ์หม่อนลูกผสมเบอร์ต่างๆ จากสถานีหม่อนไหมบุรีรัมย์และหม่อนน้อย แต่เหลือรอดมาถึงต้นปี 2531 รวม 4 ราย หม่อนตาย 1 รายเพราะเนื้อดินตื้น และปลวกทำลาย 1 ราย เดือนมิถุนายน หน่วยฯได้จัดสร้างโรงเลี้ยงไหมต้นแบบราคาถูก ขนาดเลี้ยงได้ 2 กล่อง (ไข่ไหม 25,000-30,000 ฟอง/กล่อง) โดยใช้วัสดุพื้นบ้านที่เกษตรกรจัดหาได้ขนาด 4x5 เมตร ราคาหลังละ 4,000 และ 8,000 บาท ส่วนโรงไหมต้นแบบ 3 และ 4 ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นคือ 6x9 เมตร และ 6x10 เมตร ซึ่งจะเลี้ยงไข่ไหมได้ 4-6 กล่อง แต่มีมูลค่าเพียง 12,200 และ 14,600 บาท โดยจัดสร้างในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน ตามลำดับ จากผลการดำเนินการเลี้ยงไหมของเกษตรกรที่ร่วมโครงการและเกษตรกรสมทบรวม 5 ราย ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึง 5 จากเอนกรกฎาคม 2531 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2531 แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงในการที่จะพัฒนาการปลูกหม่อนแลี้ยงไหมในเขต อ.ด่านช้าง และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งอาจขยายไปในเขตจังหวัดข้างเคียงได้ด้วย โดยสามารถจะสร้างรายได้เป็นกำไรสุทธิให้แก่ผู้เลี้ยงไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,8000 บาท เมื่อมีการสร้างสวนหม่อนที่ดี พอเพียง โดยปลูกหม่อนประมาณ 5-6 ไร่ จะเลี้ยงไหมได้ไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งในรอบปี และเลี้ยงไข่ไหมอย่างต่ำ 2 กล่องขึ้นไป ซึ่งจากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยวิจัยฟาร์มสุพรรณบุรี สถาบันวิจัยการทำฟาร์ม และสถาบันวิจัยหม่อนไหมครั้งนี้ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง มีเกษตรกรสนใจเป็นจำนวนมากมาสอบถามติดตามผลและนำกิ่งพันธุ์หม่อนไปขยายพันธุ์ จำนวน 56 ราย เพื่อเตรียมลงแปลงปลูกในต้นปี 2532