รายละเอียดบทคัดย่อ


วิเชียร ศศิประภา. 2533. การศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่ออุตสาหกรรม จังหวัดสุพรรณบุรี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.389-397.

บทคัดย่อ

         ศึกษาผลตอบแทนการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่ออุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นสภาพไร่อาศัยน้ำฝนปลูกอ้อยเป็นหลัก เมื่อโครงการแม่กลองใหญ่ได้ขยายพื้นที่ชลประทานเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวและมีการจัดรูปที่ดินแบบประชาอาสาเกิดขึ้น การศึกษาหาความเป็นไปได้และผลตอบแทนการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชที่น่าสนใจอีกพืชหนึ่งในท้องที่ดังกล่าวเพราะอายุการเกี่ยวสั้น (50 - 60 วัน) ปลูกได้4-5ครั้งต่อปี ให้ผลตอบแทนเป็นรายได้สูงในเวลาสั้น เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินน้อย เพราะมีการกระจายแรงงานในครัวในครัวเรือนและอาจพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้เป็นรายสัปดาห์ได้หากแบ่งพื้นที่ทะยอยปลูกไม่ซ้ำที่เดิมมีตลาดรองรับแน่นอนโดยมีการรับซื้อที่ฟาร์มหรือจดรวมในราคาประกันและมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามคอยให้คำแนะนำวิธีการปลูกและปฏิบัติทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ฝักที่มีขนาดตรงตามมาตรฐานของโรงงานและตลาดต่างประเทศในลักษณะการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผลการศึกษาจากเกษตรกรตัวอย่างจำนวน 4 ราย ซึ่งปลูกประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532 ปรากฎว่ารายที่ 1 ปลูกและเก็บเกี่ยวได้ 6 ครั้ง เนื่องจากปลูกไม่ซ้ำที่เดิม ส่วนรายอื่น ๆ ปลูกได้ 3 ครั้ง จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,267 กิโลกรัมต่อไร่ รายได้เฉลี่ยไร่ละ 2,183.26 บาท นอกจากนี้ยังพบว่าต้นสด ดอกยอด (ช่อเกสรตัวผู้) เปลือกฝักและไหมยังสามารถขายให้กับผู้เลี้ยงโคนมและโคขุนในท้องที่ใกล้เคียงเป็นรายได้เสริมอีกส่วนหนึ่ง หรืออาจใช้เลี้ยงสัตว์ในฟาร์มของเกษตรกรได้ด้วย