รายละเอียดบทคัดย่อ


วิโรจน์ ชลวิริยะกุล, เชษฐพงศ์ นนทพันธ์, หรรษา ฐิติโภคา, ณรงค์ พูลศิลป์, วิชัย ชาลีรินทร์, โสภณ ผดุงศักดิ์, จิระวัชร์ เข็มสวัสดิ์ และ สุพัฒน์ วิรัตน์พงษ์. 2533. การศึกษาวัสดุพลอยได้จากการปลูกพืชเป็นอาหารโค.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.416-430.

บทคัดย่อ

         การศึกษาใช้วัสดุพลอยได้จาการปลูกพืชเป็นอาหารโค เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ ในการส่งเสริมและพัฒนาการใช้วัสดุพลอยได้จากการปลูกพืชเป็นอาหารโค สำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการชลประทาน เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนหญ้าสดตามธรรมชาติในพื้นที่ และการขาดแรงงานในการเลี้ยง ทำการศึกษาในเขตโครงการชลประทานทุ่งวัดสิงห์ อ.วัดสิงห์ และโครงการชลประทานท่าฉนวน - วัดโคก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ระหว่างเดือนตุลาคม 2531 ถึงเดือนกันยายน 2532 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพื้นที่ละ 3 ราย โดยเกษตรกร 2 ราย มีการใช้วัสดุพลอยได้จาการปลูกพืชเป็นอาหารหยาบเสริมหลังการเลี้ยงปล่อย เปรียบเทียบกับอีก 1 ราย ที่เลี้ยงโคโดยปล่อยให้กินหญ้าสดตามธรรมชาติโคที่เลี้ยงส่วนมากเป็นพันธุ์พื้นเมืองและลูกผสมอเมริกันบราห์มัน 25 - 50% ซึ่งเกษตรกรทำการปลูกพืชหลายชนิด เช่นข้าว พืชไร่ กล้วย และพืชอาหารสัตว์ แล้วนำวัสดุพืชมาใช้เป็นอาหารเสริมหลังการเลี้ยงปล่อย มีการใช้ความรู้ในการเลี้ยงและการสุขาภิบาลสัตว์ มีการทำบันทึกบัญชีฟาร์มและการเจริญเติบโตของโค โดย มีเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำเป็นประจำ ผลการศึกษาภายหลังจากมีการใช้วัสดุพลอยได้ต่าง ๆ เป็นอาหารเสริม ในแต่ละช่วงเวลาตามแผนการปลูกพืช พบว่าการใช้ฟางข้าว ต้นข้าวโพด ต้นถั่วลิสง ใบถั่วแระเป็นอาหารเสริมเลี้ยงโคโดยตรง มีความเป็นไปได้มากและได้ผลดี ส่วนวิธีการปรับการใช้วัสดุพลอดยได้เลี้ยงโคเช่นต้นกล้วยหั่นผสมรำละเอียดและการใช้ฟางข้าวผสมใบกระถิน ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน สำหรับการทำฟางหมัก เกษตรกรไม่นิยมเพราะมีต้นทุนสูง และยุ่งยากในการทำ เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีการใช้วัสดุพลอยได้เป็นอาหารโค เสริมหลังการเลี้ยงปล่อยพบว่าโคมีการเจริญเติบโตดีกว่า และมีเปอร์เซ็นต์การให้ลูกของแม่โคสูงกว่าแต่มีเปอร์เซ็นต์การตายของโคน้อยกว่า รวมทั้งมีผลตอบแทนจากการเลี้ยงสูงกว่ากลุ่มที่เลี้ยงปล่อยอย่างเดียว ถึง 1,993 บาท/ตัว ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่สัตว์ได้รับอาหารหยาบเสริมที่ค่อยข้างมีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดแรงงานในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร ทำให้มีเวลาในการปลูกพืชได้มากขึ้น เป็นผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีวัสดุพลอยได้จากการปลูกพืชนำมาใช้เป็นอาหารโคมากขึ้น ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เป็นประโยชน์สูงสุด นับว่าเป็นระบบการทำฟาร์มที่นาสนใจระบบหนึ่งในปัจจุบัน