รายละเอียดบทคัดย่อ


วิบูลย์ วงศ์มาศา. 2533. การปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์ปี 2530-2531 โครงการพัฒนาพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.249-261.

บทคัดย่อ

         เกษตรกรส่วนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบอาชีพการทำนา และทำไร่เป็นหลัก และภายใต้สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้วและฝนทิ้งช่วงประจำอีกทั้งโครงสร้างของดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้การปลูกพืชทั้งหลายได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ จึงมีฐานะยากจนกว่าภูมิภาคอื่น ยกเว้นเกษตรกรบางรายที่มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร ก็จะมีรายได้และฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การส่งเสริมการปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการพัฒนาพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เกษตรกรได้มีโอกาสปลูกพืชไร่หลาย ๆ อย่าง การปลูกพืชอาหารสัตว์และเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดี เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ในปี 2530 และ 2531 ในท้องที่ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น 4 หมู่บ้าน นครราชสีมา 2 หมู่บ้าน มหาสารคาม 1 หมู่บ้านและอุดรธานี 1 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 8 หมู่บ้าน เกษตรกรที่ร่วมโครงการจะต้องดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้1. กิจกรรมการปลูกพืชไร ให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วลิสง หรือถั่วเขียว รายละ 3 ไร่ (โดยปลูกทดแทนมันสำปะหลังด้วย) นอกจากเก็บเกี่ยวผลผลิต แล้ว เกษตรกรจะต้องนำผลพลอยได้ เช่น ลำต้น และใบนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย2. กิจกรรมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ให้เกษตรกรปลูกหญ้ารูซี่ หญ้าเฮมิลกินนี ถั่วฮามาต้า และกระถิน รายละประมาณ 1 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงทรัพยากร อาหารสัตว์ (งานวิจัยของโครงการ) 3. กิจกรรมการเลี้ยงโค ให้เกษตรกรเลี้ยงแม่โคลูกผสมรายละ 1 ตัว โดยให้ผสมพันธุ์แม่โคด้วยพ่อโคพันธุ์แท้ อเมริกันบารห์มัน เมื่อแม่โคให้ลูกโคแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้รับลูกโคเป็นของตนเอง ส่วนแม่โคที่ทางโครงการให้ยืมต้องคืนให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯ เพื่อพิจารณามอบให้เกษตรรายใหม่ที่มาสมัครเป็นสมาชิกสำรองไว้ต่อไป ผลการดำเนินงานส่งเสริมการปลูกพืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ตามโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2530 จนถึงมีนาคม 2532 มีดังนี้1. จำนวนสมาชิกที่ร่วมโครงการ ในปี 2530 มีสมาชิก 20 คน ในปี 2531 มีสมาชิก 152 คน (กันยายน 2531) ในปี 2532 มีสมาชิกเพิ่มเป็น 162 คน (มีนาคม 2532) และในปี 2533 จะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 223 คน (มกราคม 2533)2. กิจกรรมการเลี้ยงโค ทางโครงการได้สนับสนุนแม่โคลูกผสมพันธุ์อเมริกันบราห์มัน (สายเลือก 50%) ให้เกษตรกรเลี้ยงในปี 2530 จำนวน 20 ตัว และในปี 2530 จำนวน 20 ตัว และในปี 2531 จำนวน 120 ตัว รวมทั้งหมดที่ทางโครงการสนับสนุน 140 ตัว ต่อมาเมื่อเกษตรกรได้ผสมพ่อพันธุ์อเมริกันบราห์มัน พันธุ์แท้แล้ว (สายเลือด 100%) ตกลูกโคพันธุ์ผสมที่มีสายเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนี้ คือ สำรวจเมื่อกันยายน 2531 มีลูกโค เกิด 12 ตัว เมื่อมีนาคม 2532 มีลูกโคเพิ่มเป็น 22 ตัว และเมื่อมกราคม 2533 จะมีลูกโคเพิ่มเป็น 83 จะเห็นได้ว่าจำนวนโคในโครงการจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว3. กิจกรรมปลูกพืชอาหารสัตว์เกษตรกรได้ปลูกหญ้ารูซี่ หญ้าฮามาต้าและถั่วฮามาต้าโดยในปี 2530 มีการดำเนินการปลูกพืชอาหารสัตว์ต่าง ๆ รวม 10 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ยรายละ 0.5 ไร่ในปี 2531 มีการดำเนินการปลูกพืชอาหารสัตว์รวม 99 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ยรายละ 0.62 ไร่และในปี 2532 จะมีการดำเนินการปลูกพืชอาหารสัตว์รวม 208 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ย 1.30 ไร่4. กิจกรรมปลูกพืชไร่ เกษตรกรได้ปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วลิสงหรือถั่วเขียว ในปี 2530 มีการดำเนินการปลูกพืชไร่ ได้ 52 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ย 2.6 ไร ในปี 2531 มีการดำเนินการปลูกพืชไร่ 245.3 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ยรายละ 1.75 ไร่และในปี 2532 จะมีการดำเนินการปลูกพืชไร่ 312 ไร่ เนื้อที่ปลูกเฉลี่ย 7.92 ไร่ จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาประมาณ 2 ปีเศษ โครงการนี้ได้ขยายการดำเนินงานได้ค่อนข้างกว้างขวางในแต่ละหมู่บ้านโดยมิได้รับงบประมาณเพิ่มเติม ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรมีความต้องการการเลี้ยงโคพันธุ์ดีมาก และเห็นด้วยกับหลักการและวิธีการดำเนินการของโครงการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินงานตามโครงการนี้ไม่ค่อยประสพปัญหามากนัก จึงมีเกษตรกรให้ความสนใจขอสมัครเป็นสมาชิกการมีโคพันธุ์ดีเลี้ยงครอบครัวละ 2 - 3 ตัว ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมนี้ ปีละ 10,000 - 20,000 บาท ซึ่งมากพอ ๆ กับการปลูกพืช 10 ไร่ และเกษตรกรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะมีโอกาสได้รับโคจากโครงการ ในการพัฒนากิจกรรมปลูกพืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ในอนาคตทางโครงการพัฒนาพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เสนอแนะให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการต่อ โดยผนกเข้าในแผนงานโครงการส่งเสริมการจัดไร่นาหรือแผนงานพัฒนาเกษตรในหมู่บ้านล้าหลัง โดยขอความร่วมมือด้านการวิชาการเลี้ยงสัตว์ การบริหารสุขาภิบาลสัตว์ และการผสมเทียมจากกรมปศุสัตว์