รายละเอียดบทคัดย่อ


วิษณุ บุญยิ่ง, มรกต อักษรสวาสดิ์, รัศมี คีรีทวีป, สุรพล รอดสมัย, ราตรี ปณิธานะรักษ์, บุญศรี อินทรประชิต และ ชุมพล มีจันทร์. 2529. ศึกษาการจัดระบบการปลูกพืชในนาเกษตรกรเขตชลประทาน จ. แพร่ ปี 2525-2528.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 3 : . ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2529 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่.  น.257-272.

บทคัดย่อ

         การศึกษาจัดระบบการปลูกพืชในนาเกษตรกรที่บ้านนันทาราม ตำบลท่าข้าม อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำชลประทานจากโครงการชลประทานแม่ยม เพื่อการศึกษาวิจัยระบบการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ และเศรษฐกิจสังคมของเกษตรกร รวมทั้งเป็นระบบการปลูกพืชที่มีความมั่นคง คงทน และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร โดยดำเนินการทดลองในนาเกษตรกรรวม 10 ราย ระหว่างเดือน ธันวาคม 2525 - เดือนธันวาคม 2528 มีขั้นตอนวิธีดำเนินงานศึกษาดังต่อไปนี้คือ การเลือกพื้นที่เป้าหมาย การอธิบายพื้นที่เป้าหมาย การวางแผนการศึกษาทดลอง การดำเนินการศึกษาทดลอง และการประเมินผล การปรับปรุงแผนการศึกษาทดลอง และการสรุปของการดำเนินงานในแต่ละปี จากการสำรวจพื้นฐานข้อมูลของเกษตรกร พบว่า แรงงานของเกษตรกรต่อครัวเรือนเฉลี่ย 3.2 คน เกษตรกรมีพื้นที่ถือครองจำนวน 2.8 แปลง เฉลี่ยต่อครัวเรือนเป็นพื้นที่นา 8.6 ไร่ แลส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สภาพไร่ ชนิดของดินนาเป็นดินร่วนเหนียว มี pH 5.5 - 6.3 , O.M. 2.33 - 3.08%, ธาตุฟอสฟอรัสและโพแตสเซี่ยมที่เป็นประโยชน์ 35 - 49 และ 88 -237 ppm ตามลำดับ ระบบการปลูกพืชในนาส่วนใหญ่คือ ข้าว-ถั่วเหลือง , ข้าว - ยาสูบ ในไร่นา ข้าวโพดไร่ - ข้าวโพดไร่ และข้าวโพดไร่ - พืชกระกูลถั่วจากการศึกษาปรับปรุงวิธีการปลูกถั่วเหลืองในนาของเกษตรกรพบว่าการปลุกไม่ได้เตรียมิน ตัดตอซังยอดเป็นแถวด้วยระยะ 50 * 20 ซม. จำนวน 2 ต้น/หลุม คลุกเมล็ดพันธ็ถั่วเหลืองด้วยเชื้อไรโซเบียม ให้ปุ๋ยเคมีชนิดละลายน้ำทางใบ สูตร 15-30-15 อัตรา 1 กก./ไร่ แบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อติดฝักขนาด 1-2 ซม. และครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 30 วัน และกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมี metalachlor 1 ครั้งหลังปลูก 1 - 2 วัน เป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วนการปลูกข้าวนั้นพบว่าปลูกโดยไม่ใส่สารเคมี ใช้พันธุ์ กข.6 อายุกล้า 30 วันปักดำ 30*30 ซม. จำนวน 3-4 ต้น/จับ เหมาะสมที่สุด การนำข้าวโพดฝักสด มันเทศ กระเทียม และหอมแดง พร้อมทั้งวิธีการปลูกที่ปรับปรุงแล้วมาทดสอบในพื้นที่ พบว่าข้าวโพดฝักสดเหมาะกว่าพืชชนิดอื่น การปรับปรุงการปลูกพืชทั้งระบบ โดยทดสอบระบบการปลูกพืชแบบต่าง ๆ กัน ระบบการปลูกพืช ข้าว - ถั่วเหลือง - ถั่วเขียว ดีที่สุด และ ข้าว - ข้าวโพดฝักสด - ถั่วเขียว รองลงมา โดยพิจารณาทั้งในแง่ความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและเป็นระบบที่มั่นคงและคงทนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร