รายละเอียดบทคัดย่อ


สำเนียง วิริยะศิริ, หนูพิน สุชาวา, นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย และ วิไลวัจน์ กฤษณะภูติ. 2531. บทบาทสตรีในระบบการทำฟาร์ม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.282-289.

บทคัดย่อ

         ได้ดำเนินการวิจัยที่บ้านดอนปอแดง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการวิจัยระบบฟาร์มผสมผสานพืชและสัตว์โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยการทำฟาร์มและมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยใช้ข้อมูลการใช้แรงงานของเกษตรกรบ้านดอนปอแดงซึ่งเก็บรวบรวมโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจากครอบครัวเกษตรกรที่ร่วมโครงการ 22 ครอบครัว ซึ่งเกษตรกรได้บันทึกข้อมูลการทำงานรายวันตามรายชื่อของสมาชิกทำให้ผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์สัดส่วนของการทำงานระหว่างชายและหญิงได้จากผลการวิเคราะห์พอสรุปได้ว่าการร่วมทำงานของสตรีเกษตรในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์มีเท่าเทียมกับเกษตกรชาย โดยมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานค่อนข้างชัดเจนกล่าวคือ แรงงานชายทำหน้าที่หลักในการเตรียมดินและฉีดยาฆ่าแมลง ส่วนแรงงานหญิงทำหน้าที่ปลูกดายหญ้าและเก็บเกี่ยว แต่จะมีการเข้าไปทำงานทดแทนกันได้เสมอเมื่อมีความจำเป็น ส่วนการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย จะเป็นหน้าที่เกษตรกรชาย สตรีเกษตรจะมีหน้าที่ดูแลและเลี้ยงสัตว์เล็ก ในเรื่องของการตัดสินใจจะตัดสินใจร่วมกันระหว่างสามีและภรรยา สำหรับเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสตรีเกษตรควรจะเป็นเทคโนโลยีที่ประหยัดแรงงานเนื่องจากจะช่วยงานในไร่นา งานรับจ้างแล้ว บทบาทในบ้านเรือนก็ยังมีมากเท่าเดิม ซึ่งควรจะเป็นกิจกรรมใกล้ ๆ บ้าน เช่น การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ถ้ามีการส่งเสริมให้ถูกหลักวิชาการจะเป็นรายได้ที่ดีของครอบครัว นอกจากนั้นผลกระทบอันเกิดจากสภาวะฝนแล้งเป็นเวลา 3 ปี ไม่สามารถจะทำการเกษตรได้ จึงเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังแหล่งที่มีรายได้ดีกว่า และพบว่าที่บ้านดอนปอแดง มีสมาชิกชายจาก 73 ครัวเรือน จำนวน 84 ราย ไปทำงานยังตะวันออกกลาง จึงน่าจะมีผลกระทบต่อบทบาทสตรีแม่บ้านที่ต้องรับภาระงานในไร่นาและในครัวเรือนซึ่งจากผลการวิจัยพบว่ามีผลกระทบต่อบทบาทของสตรีมแม่บ้านมาก กล่าวคือในด้านการเกษตรแม่บ้านบางรายต้องเตรียมดินเพาะปลูก หว่านกล้า เตรียมดิน ปักดำ และบำรุงรักษาแทนสามี นอกจากนี้ยังทำกิจกรรมเลี้ยงสัตว์ การประชุมหมู่บ้าน และการทำกิจกรรมในครัวเรือนมากขึ้นแทบทุกกิจกรรมที่พ่อบ้านเคยทำ ความต้องการของสตรีแม่บ้านที่สำคัญคือ ต้องการเพื่อนต้องการคำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ เช่น การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การฝึกอบรม ด้านการเกษตร และต้องการมีบริการด้านสุขภาพอนามัย