รายละเอียดบทคัดย่อ


อนันต์ ลิลา. 2529. การส่งเสริมในพื้นที่เป้าหมาย: ประสบการณ์ของกรมส่งเสริมการเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 3 : . ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2529 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่.  น.463-469.

บทคัดย่อ

         งานพัฒนาด้านการเกษตร นับว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของบุคลากรของรัฐเป็นอย่างมากทั้งนี้เนื่องจากเป็นการทำงานกับคน โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งมีชีวิตจิตใจ คำถามที่จะต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของเกษตรกรได้ หรือเกษตรกรมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรกับงานที่เจ้าหน้าที่นำเข้าไปในพื้นที่ และเกษตรกรมีความรู้สึกอย่างไรกับตัวเจ้าหน้าที่ นี่คือคำถามที่ง่าย ส่วนคำตอบนั้นไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป แต่การปฏิบัติตัวกับเกษตรกรหรือการทำงานกับเกษตรกรก็กนับว่าเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร โดยสาเหตุที่การนำเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตาม เพื่อถ่ายทอดไปยังพื้นที่ใดที่หนึ่งนั้น ก่อนอื่นก็จะต้องพิจารณาถึงตัวเทคโนโลยีนั้นว่า เหมาะสมกับพื้นที่หรือยัง ซึ่งเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะกระทำกันในลักษณะของการทดสอบในพื้นที่เสียก่อนเพื่อให้ทราบถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ในพื้นที่ และหาวิธีการปรับเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป ถึงแม้ว่าจะผ่านงานขั้นตอนนี้แล้ว แต่ยังไม่หมดเสียทีเดียวที่เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินงานต่อไปเพื่อโน้มน้าวจิตใจของเกษตรกรให้หันมายอมรับเทคโนโลยีดังกล่าวและนำไปปฏิบัติในพื้นที่นั้น ๆ อย่างได้ผล วิธีที่น่าจะดีที่สุดนั้น ในขั้นตอนของการทดสอบในพื้นที่จึงน่าจะให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการด้วยตนเองเสียเลย โดยเฉพาะการดำเนินการในลักษณะของการช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อที่จะได้งานดังกล่าวเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายเกษตรกรอย่างแท้จริง จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกจุดและพอใจทั้งฝ่ายตัวเจ้าหน้าที่และตัวเกษตรกรเอง นอกจากการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรแล้ว การ่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นไปในลักษณะขอกงการเปิดวงกว้าง ในแนวคิดที่ให้สามารถที่จะทำการแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างได้ผล และสามารถที่จะพิจารณาหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปสู่พื้นที่เกษตรกรได้ในที่สุด เมื่อเป็นดังนี้นอกจากผลประโยชน์จะเกิดจะเกิดขึ้นตามที่ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นผลทางด้านจิตใจที่จะก่อเกิดการทำงานร่วมกันได้อีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าใจในตัวเจ้าหน้าที่ด้วยกัน และในส่วนที่เจ้าหน้าที่กับเกษตรกรก็จะเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์ต่องานในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากจะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความพยายามเรียนรู้ปัญหาของเกษตรกร และเกษตรกรพยายามถ่ายทอดปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่มาสู่ตัวเจ้าหน้าที่เพื่อหาหนทางในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ในที่สุด