รายละเอียดบทคัดย่อ


อภิพรรณ พุกภักดี, นาถ พันธุมนาวิน, ปรัชญา รอดจากเข็ม และ ผดุงสิทธิ์ อินทร์ชัยญะ. 2533. การทดสอบไร่นาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีถั่วเหลืองเพื่อเกษตรกรในภาคกลางของประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.289-303.

บทคัดย่อ

         การทดสอบในไร่นาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีถั่วเหลืองสำหรับเกษตรกรในภาคกลางของประเทศไทย ได้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2532 โดยใช้พื้นที่ของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่เป้าหมาย และเป็นตัวแทนของพื้นที่ในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง วัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แก่ การวิจัยเพื่อวิเคราห์ให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดการผลิตถั่วเหลืองในภาคกลางและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เหมาะสมและสามารถปรับใช้ได้ภายใต้สภาพแวดล้อมและสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว อำเภอบ้านโป่งเป็นเขตการเกษตรที่ได้รับการชลประทาน พื้นที่ของอำเภอดังกล่าวเป็นพื้นที่การเกษตรที่เข้มข้น เกษตรกรเป็นเกษตรกรพัฒนา ประกบกับที่ตั้งเป็นพื้นที่ ๆ ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันพืชและแหล่งการใช้กากถั่วเหลือในการเลี้ยงสัตว์ จึงมีศักยภาพสูงในการพัฒนาถั่วเหลือง อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และสารเคมีเป็นอย่างมาก ดังนั้นการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อประโยชน์ในการบำรุงและเพิ่มรายได้ โดยลดปริมาณการใช้สารเคมี เช่น ถั่วเหลือง จึงน่าจะเป็นวิธีการพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสม ในการเทคโนโลยีถั่วเหลืองในไร่นาเกษตรกรในฤดูฝน ที่ทำขึ้นในตำบลกรับใหญ่และตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง พบว่าพันธุ์แนะนำต่าง ๆ ของถั่วเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงสุดได้แก่ พันธุ์ดอยคำ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดในวิทยาเขตกำแพงแสนด้วย สำหรับสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังทดสอบอยู่นั้น พบว่าสายพันธุ์ KUSL 20010 และ 20014 ให้ผลผลิตสูงสุด ส่วนวิทยาเขตกำแพงแสน สายพันธุ์ KUSL20017 และ 20004 ให้ผลผลิตสูงสุดรองลงมา การให้ปุ๋ยไนโตรเจนประกอบด้วยการคลุกเชื้อไรโนเปียมนั้น พบว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอำเภอบ้านโป่งในตำบลใหญ่นั้น อัตราปุ๋ยไนโตรเจนร่วมกับเชื้อไรโซเปียมที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ 4.8 กก./ไร่ ส่วนตำบลเขาขลุงนั้นเท่ากับ 9.6 กก./ไร่ พื้นที่การปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝนของโครงการอำเภอบ้านโป่งได้ใช้พื้นที่เคยปลูกข้าวโพดฝักอ่อนมาก่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีปราบวัชพืช เช่น atrazine เป็นจำนวนมากจึงมีวัชพืชน้อยมากคือเท่ากับ 0.97 กรัมน้ำหนักแห้งวัชพืชต่อตารางเมตร การใช้สารเคมี เช่น alachor หรือ materlachor ฉีดพ่นถั่วเหลืองหลังปลูกร่วมการดายหญ้าเพียงหนึ่งครั้งก่อนถั่วเหลืองออกดอก นับว่าเป็นวิธีการปราบวัชพืชที่ให้ผลดีที่สุด การทดสอบถั่วเหลืองในแปลงนาเกษตรนั้น นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ปุ๋ย และสารเคมีแล้ว ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการด้วยผลของการปลูกถั่วเหลืองในไร่นาเกษตรกร พบว่าผลผลิตเฉลี่ยถั่วเหลืองเท่ากับ 192 กก./ไร่ เกษตรกรใช้อัตราปลูกที่นับว่าใกล้เคียงกับตำแนะนำ คือมีจำนวนต้นระหว่าง 33,072 - 53,328 ต้น/ไร่ ส่วนสาเหตุที่ผลผลิตยังต่ำกว่าในแปลงทดสอบของโครงการเนื่องจากการเตรียมดินยังนับว่าไม่ดีพอ ไม่มีการปราบวัชพืช ตลอดจนการปลูกช้ากว่าระยะที่กำหนดจึงทำให้ถั่วเหลืองที่ปลูกกระทบช่วงแสงในช่วงเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน