รายละเอียดบทคัดย่อ


อารี วิบูลย์พงศ์, ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ และ วราพรรณ วิรุฬห์ศรี. 2532. การวิเคราะห์ความยืนยงในเชิงเศรษฐศาสตร์ของระบบเกษตรบนที่สูง: กรณีศึกษาหมู่บ้านผานกกก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.261-273.

บทคัดย่อ

         การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะวิเคราะห์การดำรงชีพในด้านระบบการผลิตและระบบการบริโภคของชาวเขาหมู่บ้านผานนกกก วิธีการวิเคราะห์ได้กำหนดว่า ความยืนยง (Sustainability) ของระบบการเกษตรคือ ความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่า สามารถเลี้ยงดูครัวเรือนได้นานเป็นเวลากี่ปี ซึ่งจะต้องรู้ผลิตภาพของกิจกรรมต่างๆ (Productivity) เสถียรภาพ (Stability) ของรายได้ และการกระจายรายได้ (Equitability) สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความยืนยง การวิเคราะห์เชขิงปริมาณได้ใช้ 2 สมการหลักคือ สมการรายได้ ซึ่งรวมถึงสมการการผลิตด้วย และสมการการใช้จ่าย ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดความยืนยงมี 4 อย่างคือ ชนิดของพืชที่ปลูก ขนาดพื้นที่เพาะปลูก จำนวนสมาชิกในครัวเรือนและผลิตภาพของดิน การปลูกผักและพืชไร่มีแนวโน้มของความยืนยงต่ำ ส่วนการปลูกผักร่วมกับไม้ผลมีความยืนยงสูงกว่า และขนาดพื้นที่เพาะปลูกต่อคนสูงจะเพิ่มความสามารถในการเลี้ยงครัวเรือนได้นานขึ้น หมู่บ้านผานกกกมีระบบการผลิตของครัวเรือนที่มีความยืนยงต่ำมาก เกือบครึ่งของครัวเรือนคือ เพียงร้อยละ 25 ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ต่ำมากไม่เกิน 5 ปี และร้อยละ 10 อยู่ได้เพียง 10 ปี ซึ่งนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤติต่อการบุกรุกทำลายป่า เพราะระบบการปลูกพืชดังกล่าวทำให้มีการสูญเสียหน้าดิน นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนสูง และพื้นที่เพาะปลูกต่อจำนวนสมาชิกในครัวเรือนต่ำ มักปลูกพืชผักละพืชไร่เป็นสำคัญ การปลูกไม้ผลแทบจะไม่มีเลย ทั้งที่เกษตรกรทราบดีว่าให้รายได้มั่นคงในระยะยาว แต่เนื่องจากขาดเงินทุนจึงต้องปลูกพืชผัก-พืชไร่ และพบว่าเกษตรกรมีการบำรุงรักษาดินน้อยมาก หากได้ปรับปรงุดินและหันมาปลูกไม้ผลเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการควบคุมจำนวนประชากรจะสามารถเพิ่มความยืนยงให้กับระบบได้มากขึ้น และเป็นการลดปัญหาความกดดันในการบุกรุกทำลายป่า ทั้งนี้รัฐควรเข้ามาดำเนินการในการควบคุมประชากรชาวเขา เอื้ออำนวยในการอนุรักษ์ดิน และจัดหาสินเชื่อให้แก่เกษตกรชาวเขาเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อเพิ่มความยืนยงของระบบต่อไป