รายละเอียดบทคัดย่อ


พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ สุพร อำมฤคโชค. 2539. แนวทางแบบผสมผสานเพื่อสร้างทางเลือกของเกษตรกรรมแบบแผ้วถางและเผาสำหรับชุมชนปาเกาะญอบนที่สูง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.32-47.

บทคัดย่อ

         ชุมชนบนที่สูงยังคงใช้ระบบเกษตรแบบแผ้วถางและเผาเพื่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมภายนอก และในหลายพื้นที่ ความสามารถในการฟื้นฟูดินได้ลดลงตามลำดับ ทำให้ระบบดังกล่าวไม่ยั่งยืน บทความนี้จะรายงานแนวทางและผลการพัฒนาทางเลือกของวิธีการดังกล่าวสำหรับชุมชนปาเกาะญอในพื้นที่บ้านจันทร์ อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ แนวทางแบบผสมผสานเพื่อสร้างทางเลือกของเกษตรแบบแผ้วถางและเผา ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า 1 การเพิ่มผลผลิตข้าวทั้งที่เป็นนาลุ่มหรือที่ดอนจะช่วยลดความกดดันหรือความจำเป็นของการใช้การผลิตแบบแผ้วถางและเผา 2. การพัฒนารูปแบบการใช้ที่ดินแบบถาวรจะสามารถลดหรือทดแทนระบบแผ้วถางและเผาได้ และ 3. พื้นที่ทำกินไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำหรับการพัฒนาระบบเกษตรที่ยั่งยืนที่บ้านวัดจันทร์แต่ต้องเพิ่มทักษะการผสมผสานองค์ความรู้ภายนอกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม จากการทำความเข้าใจกับระบบการผลิตและรูปแบบการถือครองที่ดินของชาวปาเกาะญอมีที่ดิน 4 ประเภท ได้แก่ ที่นา ที่ดอนสำหรับปลูกข้าว ที่สวน และแปลงฟื้นฟู ในการศึกษาได้เน้นการพัฒนารูปแบบการใช้ที่ดินในพื้นที่นา ที่ดอนและแปลงฟื้นฟู สำหรับที่สวนชาวปาเกาะญอใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลหรือพืชผัก เพื่อส่งให้โครงการหลวงช่วยจัดจำหน่าย การปรับปรุงนาข้าวประกอบด้วยการรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวปาเกาะญอปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ การเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีในระยะสั้น และการใช้ปุ๋ยพืชสด เช่น โสนแอฟริกา การสนับสนุนข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยที่มีน้ำตลอดปีถูกจำกัดโดยพันธุ์ข้าว ซึ่งต้องมีคุณสมบัติไม่ไวแสง และทนต่อสภาพหนาวเย็นในเดือนมกราคม พื้นที่ดอนสำหรับปลูกข้าวไร่เป็นพื้นที่ถูกแผ้วถางจนไม่เหลือตอไม้พื้นเมืองแล้ว ผลผลิตข้าวไร่ต่ำกว่า 200 กก./ไร่ ถึงแม้จะให้โอกาสที่ดินได้พักฟื้นทุก 2 ปีก็ตาม การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน เช่น ถั่วมะแฮะ มีความเป็นไปได้สูง สำหรับแปลงฟื้นฟูซึ่งบางครัวเรือนมีมากกว่า 1 แปลง ชาวปาเกาะญอจะใช้ปลูกข้าวไร่อย่างเดียวและปล่อยให้พื้นที่ฟื้นตัวตั้งแต่ 3-10 ปี การสำรวจพบว่า ระยะพักตัวนานถึง 7 ปี ก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงนี้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น พันธุ์พืชที่นำเข้าไปปลูกเสริมเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่สามารถเจริญแข่งขันกับต้นที่แตกใหม่จากตอเดิมได้ ดินเป็นกรดและปริมาณธาตุฟอสฟอรัสต่ำทำให้พืชตระกูลถั่วหลายชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี งานทดลองเพื่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงฟื้นฟูนี้กำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ได้ศึกษาศักยภาพไม้ก่อซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ธรรมชาติในลุ่มน้ำวัดจันทร์เพื่อพัฒนาเป็นพืชเสริมรายได้และช่วยอนุรักษ์ลุ่มน้ำ บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าทางเลือกสำหรับเกษตรแบบแผ้วถางและเผาไม่สามารถกระทำได้ถ้าเน้นการปฏิบัติที่แปลงฟื้นฟูเพียงอย่างเดียว จำต้องเข้าใจวิถีชีวิตและเป้าหมายการผลิตของชุมชนและการดำเนินการทดลองในพื้นที่ร่วมด้วย