รายละเอียดบทคัดย่อ


หัสไชย บุญจูง และ Shu Fukai. 2539. แบบจำลองการปลูกข้าวอย่างง่ายกับการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.48-58.

บทคัดย่อ

         ได้ทำการพัฒนาและปรับแก้แบบจำลองการปลูกข้าวอย่างง่ายๆ จากการศึกษา ณ มหาวิทยาลัย ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ให้สามารถคำนวณผลผลิตและการเจริญเติบโตของข้าวขาวดอกมละ 105 ที่ปลูกในพื้นที่นาอาศัยน้ำฝน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แบบจำลองได้คำนวณการสูญเสียน้ำในแต่ละวันจากปริมาณน้ำฝน การคายน้ำ การระเหยน้ำและการซึมผ่านของน้ำในดิน (Deep Percolation Rate) การคำนวณมวลชีวภาพในแต่ละวัน (CGR) คำนวณจากปริมาณแสงแดดที่พืชได้รับและประสิทธิภาพการใช้แสงของข้าว มวลชีวภาพจะลดลงเมื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ในสภาวะแห้งแล้ง มวลชีวภาพจะคำนวณจากประสิทธิภาพการคายน้ำของข้าว ปริมาณมวลชีวภาพในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตจะเป็นตะวกำหนดองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตของข้าว ได้ใช้แบบจำลองคำนวณผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งได้จากการทดลองในสถานีทดลองข้าว 6 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ปี คือระหว่างปี 2535-2536 จำนวน 20 การทดลอง ได้ใกล้เคียงเป็นที่น่าพอใจ แบบจำลองได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีความแปรปรวนระหว่างปีสูง เป็นผลของความแปรปรวนของฝนที่ตกในแต่ละปีนั่นเอง การเพิ่มผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 สามารถกระทำได้ดดยลดความรุนแรง เนื่องจากสภาวะแห้งแล้ง ด้วยการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินให้สูงขึ้นและมีวิธีที่สามารถลดการสูญเสียของน้ำเนื่องจากการซึมผ่านของน้ำในดิน แบบจำลองการปลูกข้าวนี้สามารถคาดคะเนผลผลิตของข้าวได้ดีขึ้น หากข้อมูลภูมิอากาศและข้อมูลการปลูกข้าวมีมากกว่านี้ และต้องมีการทดสอบให้มากกว่านี้ก่อนที่จะนำไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจที่มีการจัดการซับซ้อนมากขึ้น