รายละเอียดบทคัดย่อ


อัจฉรา อุทโยภาศ, ชวาลวุฑฒ ไชยนุวัติ และ รัตนา เศวตาสัย. 2532. แนวทางการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ใหม่.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 6 : . ระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2532 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น.  น.333-343.

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการาส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ใหม่ เนื่องจากถั่วเหลืองที่ผลิตได้ในปัจจุบันยังมีผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ แนวทางหนึ่งก็คือการขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ใหม่ โดยเฉพาะในเขตชลประทานในฤดูแล้ง ผลการศึกษาพบว่า การส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ใหม่ ในฤดูแล้วปี 2531/32 นั้น ร้อยละ 78.6 ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการยอมรับที่จะปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งปีต่อไป ยกเว้นเกษตรกรส่วนใหญ่ของภาคกลางและภาคตะวันตกซึ่งไม่ยอมรับการปลูกถั่วเหลือง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการยอมรับ คือผลผลิตต่อไร่ ซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มีผลผลิตสูงถึง 214 กก./ไร่ ผลผลิตจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับ 1) ช่วงเวลาการปลูก ซึ่งหากปลูกให้เสร็จสิ้นช้ากว่าเดือนมกราคม จะทำให้ไม่ติดเมล็ด 2) วิธีการปลูก พบว่าการปลูกแบบหยอดในตอซังนั้น เกษตรกรยังไม่นิยม 3) อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ พบว่าใช้อัตราสูงกว่าที่กำหนด เพราะใช้วิธีการหว่านปลูก ทำให้ไม่สามารถควบคุมวัชพืช ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำ 4) ศัตรูถั่วเหลือง พบว่ามีหนอนมวนใบ หนอนเจาะฝัก ลงทำลาย แต่เกษตรกรไม่ทราบ จึงเกิดปัญหาเมล็ดลีบนอกจากนี้การปลูกในพื้นที่นา มักพบการเข้าทำลายของหนูด้วย แนวทางการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในอนาคต ประกอบด้วย 1) เร่งรัดการผลิตเมล็ดถั่วเหลืองพันธ์ดี 2) ประสานงานกับชลประทานจังหวัดให้ปล่อยน้ำในช่วงที่เหมาะสมกับการปลูก 3) ส่งเสริมการใช้เครื่องทุ่นแรงที่เกษตรกรสามารถจัดหาได้ เพื่อป้องกันการขาดแคลนแรงาน ซึ่งมีผลต่อวิธีการปลูก 4) ส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนให้มีบทบาทในการผลิตเชื้อไรโซเบียม เพราะการปลูกในพื้นที่ใหม่จำเป็นต้องใช้เชื้อ 5) ส่งเสริมการบริโภคถั่วเหลืองให้เกษตรกรรู้จักมากขึ้น