รายละเอียดบทคัดย่อ


ประสงค์ วงศ์ชนะภัย, รัศมี คีรีทวีป, อุชนีย์ ทรัพย์สมบูรณ์, พูลสวัสดิ์ อาจละกะ และ สันติ บำรุงธรรม. 2539. การวิจัยและพัฒนาระบบเกษตรกรรมพื้นที่เป้าหมาย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.98-116.

บทคัดย่อ

         ดำเนินการในพื้นที่บ้านโคกกราด (หมู่ 8) ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยยาง จากการวิเคราะห์พื้นที่พบว่า ประเด็นปัญหาที่สำคัญของพื้นที่ ได้แก่ เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร มีการใช้น้ำชลประทานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ฝนมีความแปรปรวน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำต้องออกไปขายแรงงานในเมืองจนเป็นเหตุให้เกิดขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ จากปัญหาดังกล่าว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดจันทบุร๊ได้วางแผนการวิจัยและพัฒนาระบบการเกษตรในพื้นที่ โดยนำทฤษฎีใหม่ของในหลวง (10 : 30 : 60) มาปรับใช้ จดบันทึกข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้แรงงานครอบครัวในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มดำเนินงานในปี 2538 ได้ผลดังนี้คือ ปี 2537 (มิ.ย. - ธ.ค.) พบว่าเกษตรกรมีรายได้เหนือต้นทุนผันแปร -10,510.84 บาทต่อพ้นที่ทั้งหมด (8.36 ไร่) หรือ -6,806.76 บาทต่อพื้นที่ 5 ไร่ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายผลผลิตพืชแซม (พืชผักพืชไร่ที่แซมระหว่างไม้ผล) แต่รายจ่ายส่วนใหญ่มาจากการแปรสภาพพื้นที่นาเป็นร่องสวน สระน้ำ พันธุ์ไม้ผล ด้านการใช้แรงงานครอบครัวพบว่า มีการใช้แรงงานทั้งหมด 154.61 วันทำงาน แบ่งเป็นทำนา 71.92 วันทำงาน หรือ 23.97 วันทำงาน/ไร่ ทำสวน 78.92 วันทำงาน กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ เพาะเห็ดฟาง เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา 3.77 วันทำงาน ปี 2538 (ม.ค. - ธ.ค.) เกษตรกรมีรายได้เหนือต้นทุนผันแปรทั้งหมด 13,642.95 บาทต่อพื้นที่ทั้งหมดหรือ 9,368.75 บาทต่อพื้นที่ 5 ไร่ โดยมาจากขายผลผลิตข้าวนาปี 2537 ไม้ผลรอง (กล้วย มะละกอ) พืชแซม เห็ดฟาง และพืชไร่หลังนา (ถั่วลิสง, มะเขือเทศ) ด้านการใช้แรงงานครอบครัวทั้งหมด 305 วันทำงาน แบ่งเป็นทำนา 52.8 วันทำงานหรือ 17.6 วันทำงาน/ไร่ ทำสวน 196.7 วันทำงาน กิจกรรมอื่น ๆ ในฟาร์มได้แก่ เพาะเห็ดฟาง เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ 55.6 วันทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวของเกษตรกรในพื้นที่ 5 ไร่ จะมีรายได้เหนือต้นทุนผันแปร 3,505 บาท ซึ่งระบบการเกษตรแบบผสมผสานจะมีรายได้มากกว่าระบบของเกษตรกร 5,863.75 หรือ 1,172.75 บาท/ไร่