รายละเอียดบทคัดย่อ


วีระ ภาคอุทัย และ นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์. 2539. ผลกระทบการทำงานนอกฟาร์มต่อการปรับระบบการเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.308-323.

บทคัดย่อ

         การทำงานนอกฟาร์มของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างในภาคเกษตร และสภาพการขาดแรงงานในบางท้องที่การศึกษาผลกระทบของการทำงานขิงการทำงานนอกฟาร์มต่อระบบการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาพการทำงานนอกฟาร์มของเกษตรกร และผลกระทบของเกษตรกรในด้านการเพาะปลูกและการดำรงชีพในชุมชน ผลการสำรวจสภาพการไปทำงานนอกฟาร์มของเกษตรกร 120 ครัวเรือน 6 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน พบว่าร้อยละ 50 ของประชากรในวัยแรงงานทำงานนอกฟาร์มเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวโดยทำงานแบบไป - กลับ และบางส่วนไปทำงานในท้องที่ห่างไกลเป็นเวลานาน ตลอดจนไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากรายได้จากการเกษตรไม่เพียงพอ สภาพว่างงานตามฤดูกาล ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ผลกระทบของการไปทำงานนอกฟาร์ม มีทั้งเชิงลบและบวกต่อ สภาพชุมชน ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตร และการปรับการเกษตรชุมชน ผลกระทบของการทำงานนอกฟาร์มต่อการเกษตร แม้เกษตรกรในเขตชลประทานแต่หากมีงานนอกการเกษตรใกล้เคียง เกษตรกรก็จะไปทำงานโดยการเดินทางไป - กลับ และทำงานทั้งในฟาร์มและนอกฟาร์มควบคู่กันไป ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลและนอกเขตชลประทานจะไปทำงานนอกฟาร์มเป็นเวลานาน ๆ เช่น ไปกรุงเทพฯ หรือรับจ้างตัดอ้อย ผลกระทบที่เด่นชัดคือการนำรายได้นอกฟาร์มมาปรับปรุงที่ดิน ซื่อที่ดินเพิ่ม ขุดสระน้ำ ซื้อเครื่องสูบน้ำ เปลี่ยนจากการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวมาเป็นเกษตรกรผสมผสานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงต้องอาศัยแรงงานรับจ้าง มีผลให้ระดับราคาค่าแรงในภาคเกษตรสูงขึ้นถึงวันละ 80 - 100 บาท หลายพื้นที่จึงปรับจากการทำนาดำมาเป็นนาหว่าน เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน ทั้งนี้เพราะต้นทุนนาหว่านจะลดต่ำกว่านดำได้กว่าร้อยละ 50 ในบางพื้นที่ มีลักษณะการไปทำงานนอกฟาร์มต้องไปพร้อมกัน เช่น ไปตัดอ้อยในภาคกลาง จะต้องมีการระดมแรงงานจากภายนอกพื้นที่เข้าช่วย เพื่อให้ทันกำหนดเวลาเดินทางและได้นำข้าวไปบริโภคด้วย ในพื้นที่ที่มีแหล่งงานนอกฟาร์มใกล้ชุมชน เช่น ที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าเกษตรกรใช้เครื่องทุ่นแรงมากขึ้น ปลูกพืชที่ช่วยประหยัดแรงงงานหรือให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น ทำนาหว่าน ปลูกอ้อย เกิดการรวมตัวปลูกผักสวนครัวเป็นอาชีพไว้ประกอบอาหาร และขายให้แรงงานที่ออกไปทำงานนอกฟาร์ม ผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตรกร พบว่า รายได้เงินสดจากการทำงานนอกฟาร์มของเกษตรกรมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 61 ของรายได้ครัวเรือน และเป็นแหล่งรายได้สำคัญซึ่งใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร การศึกษา ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ผลในแง่ลบ พบในครัวเรือนที่สมาชิกหลักต้องไปทำงานห่างไกลเป็นเวลานาน สมาชิกครอบครัวโดยเฉพาะเด็ก คนชรา ได้รับการดูแลน้อยลง ผลกระทบต่อชุมชนพบว่า เมื่อมีคนที่เป็นแรงงานหลักอยู่ในชุมชนน้อยลง การพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ ทำได้ยากมากขึ้น แต่ผู้ทำงานต่างถิ่นจะมีการนำวัสดุมาสู่ชุมชนในรูปแบบของการทำบุญ ช่วยเหลือวัด โรงเรียน มากขึ้น บางชุมชนจะพบผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ยาม้า ปัญหาการหย่าร้าง ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนทางสังคมที่ประเมินค่าได้ยาก โดยสรุปแล้ว งานนิอกภาคเกษตร ที่เกิดในพื้นที่เกษตรกรรมที่ช่วยให้เกษตรกรมีงานทำนอกฟาร์มแบบไปเช้า - เย็นกลับ จะช่วยปรับกิจกรรมการผลิตของภาคเกษตรไปในแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการใชทรัพยากรให้สูงขึ้น แต่การที่เกษตรกรต้องเดินทางไปทำงานนอกฟาร์มเป็นเวลานาน แม้จะพบการลงทุนในวัตถุที่สูงขึ้น แต่จะขาดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และในบางชุมชนพบว่าเกิดผลกระทบเป็นเชิงลบทางสังคมซ่งอาจจะสูงกว่าการปรับตัวเชิงบวกในภาคเกษตรกรรม