รายละเอียดบทคัดย่อ


ชาญชัย อ่อนสอาด, พิสมัย พิชิตมาร และ นิรันดร์ ทองพันธุ์. 2535. การวิจัยการเลี้ยงปลาในนาข้าวในระบบการทำฟาร์มพื้นที่เกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.160-169.

บทคัดย่อ

         เป็นการวิจัยการเลี้ยงปลาในนาข้าวเพื่อเพิ่มรายได้ต่อหน่วย ของเกษตรกรอาศัยน้ำฝนบ้านทับสวาย ต.ทับสวาย อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ในเขตนิเวศเกษตร ฝ6 ด1 มีเกษตรกรเข้าร่วม 10 ราย รวมพื้นที่ทดลองทั้งหมด 17.53 ไร่ มี 2 กรรมวิธีคือ ปลูกข้าวอย่างเดียวกับปลูกข้าวควบคุมกับการเลี้ยงปลา ได้ผลการวิจัยดังนี้ ผลผลิตข้าวในแปลงที่เลี้ยงปลา ปี 2531 2532 และ 2533 ได้ 320 525 และ 411 กก./ไร่ เฉลี่ย 3 ปี ได้ 419 กก./ไร่ ส่วนแปลงที่ไม่ได้ปล่อยปลาได้ 271 488 และ 325 กก./ไร่ ตามลำดับ เฉลี่ย 3 ปี ได้ 361 กก./ไร่ โดยผลผลิตแปลงที่เลี้ยงปลาเพิ่มขึ้น 18 8 และ 26 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เฉลี่ย 3 ปี เพิ่ม 17 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลผลิตปลายปี 2531 2532 และ 2533 ได้ 14 16 และ 26 กก./ไร่ ตามลำดับ เฉลี่ย 3 ปี 19 กก./ไร่ รายได้สุทธิ (ไม่คิดแรงงานในครอบครัว) ระหว่างแปลงที่เลี้ยงปลากับแปลงที่ไม่ได้ปล่อยปลา ปี 2531 2532 และ 2533 แปลงที่ปล่อยปลา มีรายได้เพิ่มขึ้น 31 17 และ 58 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับหรือเฉลี่ย 3 ปี เพิ่มขึ้น 418 บาท/ไร่ จากการที่ได้นำเอาเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาในนาข้าว จากจังหวัดอุบลราชธานี นำมาปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะสภาพแวดล้อมของท้องที่ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ก็สามารถเหมาะสมและให้ผลดีเกษตรกรให้การยอมรับ ซึ่งเห็นได้จากที่เกษตรกรข้างเคียงทำตามเพิ่มขึ้น และในปี 2534 ทางโครงการฯ ได้ขยายผลการวิจัยหลายพื้นที่การเลี้ยงปลาในนาข้าว ในสภาพนาน้ำฝน ไปที่ จ.บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ รวมเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 70 ราย