รายละเอียดบทคัดย่อ


เบญจพรรณ ชินวัตร, เฉลิม สุขพงษ์, ภัททนันท์ วุฒิการณ์, ประชา เดือนดาว, เบ็ญจา อ่วนท้วม และ พชรวรรณ เผดิมชัย. 2535. ผลการประเมินผลงานวิจัย และพัฒนาระบบการทำฟาร์มที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมของเกษตรกร และด้านกระบวนการวิจัย และพัฒนา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.285-303.

บทคัดย่อ

         จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือเพื่อพัฒนาผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรที่อาศัยน้ำฝนในพื้นที่ในเขตเกษตรนิเวศน์ที่สำ คัญ โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด คือภาคเหนือ 5 จังหวัด (พะเยา เชียงราย ลำปาง แพร่ และสุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด (มหาสารคาม และสุรินทร์) และภาคใต้อีก 2 จังหวัด (พัทลุงและนครศรีธรรมราช) กลยุทธ์ของโครงการนี้จะรวมถึง การระบุพื้นที่เป้าหมายตามเขตนิเวศเกษตรและเขตที่มีเสถียรภาพในการผลิตพืชต่างๆ กัน มีการวิเคราะห์เขตกรรมที่เกษตรกรใช้ และลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร มีการทดสอบวิทยาการที่ได้ปรับปรุงและประเมินผลทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจและสังคมแล้ว ท้ายที่สุดมีการขยายวิทยาการที่ได้รับผลไปสู่เกษตรกร มีการทดสอบวิทยาการทางการเกษตรหลายอย่าง ในโครงการนี้ ทั้งในสถานีวิจัย และในแปลงเกษตรกร โดยพิจารณาถึงสภาพภูมิอากาศ ด้านเศรษฐกิจและสังคม และด้านเขตกรรมของเกษตรกร แต่วิทยาการเหล่านั้นไม่ได้ประสบผลสมบูรณ์ทั้งหมด เมื่อโครงการสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2529 มีวิทยาการ 2 รูปแบบ ที่ได้ผลพอที่จะมีการส่งเสริม คือการปลูกข้าวนาหยอดและการปลูกถั่วเขียวก่อนข้าว การปลูกข้าวนาหยอด และถั่วเขียวก่อนข้าวเป็นระบบการปลูกพืชที่นักวิจัยของโครงการมีความเห็นว่า มีความ 'สมบูรณ์' เพียงพอ มีความเหมาะสมในการปลูก ในทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ได้มีการแนะนำการปลูกข้าวนาหยอดสำหรับพื้นที่ที่แห้งแล้ง อย่างเช่น ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ส่วนถั่วเขียวก่อนข้าวนั้น จะทำให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากความชื้นในดินก่อนฤดูการปลูกข้าว และเพิ่มความเข้มข้นของระบบการปลูกพืชซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร วิทยาการที่โครงการแนะนำสู่เกษตรกรทั้งสองอย่างนี้มีความง่าย และเหมาะสมกับท้องที่ที่อาศัยน้ำฝนซึ่งมีลักษณะฝนทิ้งช่วง และมีความแปรปรวนสูง