รายละเอียดบทคัดย่อ


สาโรช ค้าเจริญ. 2535. ระบบเกษตรผสมผสานพืช-สัตว์: แนวคิดบางประการ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.27-32.

บทคัดย่อ

         การเกษตรไทยในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทแรก เป็นเกษตรอุตสาหกรรมหรือกึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดครอบครัวจนถึงบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ดำเนินการผลิตและค้าผลผลิตจากพืชเศรษฐกิจปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ เป็นอาชีพหลัก การเกษตรระบบนี้ดำเนินการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมักพบเห็นรอบ ๆ เมืองใหญ่ โดยผู้ผลิตจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศ การเกษตรประเภทที่สองเป็นการเกษตรในชนบท อันเป็นกิจการของการเกษตรกรรายย่อยจำนวนกว่า 4 ล้านครอบครัวในทุกภูมิภาคของประเทศ เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้วยการทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ จับปลา และเก็บผลผลิตจากป่า เขาทำมาหากินทุกด้านที่ก่อให้เกิดอาหารและรายได้ ทรัพยากรเกือบทุกอย่างที่มีอยู่ในท้องถิ่นถูกนำมาใช้ประโยชน์ ที่ดินในที่ลุ่มและมีน้ำอุดมสมบูรณ์ใช้ทำนา เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงเป็ดในฤดูฝน ใช้ปลูกผัก และเลี้ยงวัวควายในฤดูแล้ง พื้นที่ดอนใช้ปลูกพืชไร่เพื่อหารายได้เพิ่มเติม ที่ว่างตามบริเวณบ้านมักปลูกไม้ยืนต้นเพื่อกินผลและให้ร่มเงา ที่ว่างตามหัวไร่ปลายนาปล่อยให้หญ้าขึ้นเป็นที่เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกไม้ใช้สอยเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ทำฟืน คอกสัตว์ หรือเครื่องจักสาร เป็นต้น เกือบทุกบ้านมีการเลี้ยงไก่เพื่อช่วยเก็บกินเศษอาหาร หญ้า หนอน แมลง และให้เนื้อให้ไข่เป็นอาหาร ตลอดจนรายได้เสริมเมื่อต้องการเงินจำนวนน้อย บางบ้านเลี้งหมูโดยใช้เศษอาหารและผลพลอยได้จากพืชเพื่อเป็นการออมเงินจากของเหลือที่มิได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นปศุสัตว์นอกจาจะช่วยทำประโยชน์ในการทำงานในไร่นาแล้ว มันยังสามารถเก็บเศษเหลือจากกิจกรรมการปลูกพืชแล้วเปลี่ยนเป็นรายได้เสริมให้กับครัวเรือนเกษตรกรได้ อีกส่วนหนึ่ง ในชนบทที่มีข้อจำกัดทางทรัพยากรและสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกัน ความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ต่อรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเกื้อกูลกันของแต่ละกิจกรรมในลักษณะของการผสมผสานกัน จะเป็นลักษณะเด่นของการเกษตรชนบทที่เหมือน ๆ กันในทุก ๆ ภูมิภาคของประเทศไม่ว่าจะอยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนหรือเขตเกษตรก้าวหน้าในพื้นที่ที่มีการชลประทาน ในที่นี้จะมุ่งกล่าวเน้นเฉพาะการเกษตรผสมผสานพืช-สัตว์ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะการเกษตรในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีความเป็นอยู่ที่ล้าหลังและยากจนที่สุด ควรที่จะได้รับการเอาใจใส่จากนักพัฒนาระบบการทำฟาร์มมากที่สุด