รายละเอียดบทคัดย่อ


สวัสดี บุญชี. 2535. ระบบการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่ลาดชันที่นำไปสู่ถาวรภาพทางการเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.63-74.

บทคัดย่อ

         ปัจจุบันปัญหาการเพิ่มของประชากร และความต้องการพื้นที่อย่างเร่งด่วนเพื่อทำการเกษตรบนที่ดอนและที่สูงนับว่ากำลังเป็นปัญหาที่สำคัญอันหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตทางภาคเหนือและทางภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างตามมาเช่น ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินทำให้ที่ดินเกิดการเสื่อมโทรม ผลผลิตของพืชไร่ที่ปลูกลดต่ำลงทุกปี ตลอดจนเกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศวิทยาโดยส่วนรวม ระหว่างปี 2529 - 2534 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความร่วมมือกับโครงการพัฒนาพื้นที่ในเขตภาคเหนือหลายโครงการ รวมทั้งสถาบันคณะกรรมการเพื่อการวิจัยและการจัดการดินสากล (IBSRAM) ได้ดำเนินการทำแปลงทดลองและทดสอบเพื่อคัดเลือกหาระบบการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ที่เหมาะสมพื้นที่ลาดชันที่นำไปสู่ถาวรภาพทางการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศ ผลของการทดลองและทดสอบที่ผ่านมาพบว่า ระบบการปลูกพืชในเชิงอนุรักษ์ที่เหมาะสมบนพื้นที่ลาดชันได้แก่ ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานไม้พุ่มบำรุงดิน (Alley croppimg) และระบบการปลูกพืชสลับระหว่างแถบหญ้า (Grass strip cropping) ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถลดปริมาณการสูญเสียดินและน้ำ เพิ่มศักยภาพในการผลิตของดินให้สูงขึ้น ตลอดจนให้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าระบบการปลุกพืชแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ระบบการปลูกพืชในเชิงอนุรักษ์ฯ ยังรวมถึงการไถพรวนและการปลูกพืชตามแนวระดับ, การปลูกพืชสลับเป็นแถว, การเตรียมดินน้อยครั้งและการใช้เศษเหลือเป็นวัสดุคลุมและบำรุงดิน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรรณรงค์ให้เกษตรกรบนที่ดอนและที่สูง หรือบนพื้นที่ที่มีความลาดชันทั้งหมดได้หันมายอมรับระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานในเชิงอนุรักษ์ดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยยกระดับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรให้สูงขึ้น ตลอดจนช่วยปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นโดยส่วนรวมอีกด้วย