รายละเอียดบทคัดย่อ


สุพร อำมฤคโชค และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ. 2535. ปัญหาของระบบการผสมผสานวิธีการปลูกพืชระหว่างแถบไม้พุ่มในการพัฒนาระบบเกษตรเชิงอนุรักษ์ของเกษตรกรบนที่สูงลาดชัน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.214-222.

บทคัดย่อ

         วิธีการปลูกพืชระหว่างแถบไม้พุ่มตามแนวระดับ เป็นทางเลือกหนึ่งของการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์บนที่สูงลาดชัน ซึ่งเชื่อว่าสามารถลดการชะล้างหน้าดิน และในขณะเดียวกันสามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโครงการพัฒนาที่สูงของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนได้แนะนำวิธีการนี้ให้กับเกษตรกร แต่การยอมรับก็ยังไม่แพร่หลาย การศึกษาปัญหาของการผสมผสานวิธีการปลูกพืชระหว่างแถบไม้พุ่ม ได้ดำเนินการกับเกษตรกรในหมู่บ้านห้วยส้มสุก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยแบ่งการศึกษาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับแปลงเกษตรกรเพื่อวัดผลกระทบของระบบการปลูกพืชระหว่างแถบกระถินและผลการใช้ปุ๋ยเคมีต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินการสูญเสียหน้าดิน ปริมาณความชื้นในดิน และผลผลิตของระบบพืช ถั่วลิสง - ถั่วเหลือง ที่ปลูกร่วมในแถบกระถิน การศึกษาในระดับฟาร์มได้พิจารณาถึงกิจกรรมในครัวเรือน การจัดแรงงานและผลตอบแทนต่อแรงงาน สำหรับระดับหมู่บ้านได้ประเมินความคิดเห็นของเกษตรกรเกี่ยวกับปัญหาการำนเอาระบบการปลูกพืชระหว่างแถบพุ่มไม้ไปใช้พื้นที่ การใช้ใบกระถินคลุมดิน ยังไม่แสดงผลชัดเจนต่อการป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ปริมาณการสูญเสียหน้าดินในแปลงปลูกถั่วเหลืองระหว่างแถบกระถินบนที่ลาดชันเท่ากับ 112 ตัน/เฮกตาร์ ซึ่งปริมาณดังกล่าวอาจจะสูญเสียจากพื้นที่ไปถ้าไม่มีแถบไม้พุ่มเป็นแนวขวางกั้น แถบกระถินที่มีอายุ 4 ปี ยังไม่สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินได้เพียงพอ การใช้ปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 56 กก. P2O5/ เฮกตาร์ ในถั่วลิสงและปุ๋ยเกรด 16 - 20 - 0 อัตรา 281 กก./เฮกตาร์ ในถั่วเหลือง ให้ผลตอบแทนสูงกว่าไม่ใส่ปุ๋ย สำหรับเกษตรกรผู้ใช้แถบกระถิน ต้องการแรงงานเพิ่มอีก 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกิจกรรมในรอบปี แรงงานที่ใช้ในการผลิต ถั่วลิสง - ถั่งเหลือง ในแถบกระถินประมาณ 323 คน/วัน/เฮกตาร์ ซึ่งได้ผลตอบแทนต่อแรงงานเท่ากับ 38 บาท/คน/วัน ต่ำกว่าค่าแรงงานรับจ้างรายวันในหมู่บ้าน (50 บาท/คน/วัน) การยอมรับระบบแถบไม้พุ่มในหมู่บ้านยังมีน้อย เกษตรกรส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการชะล้างหน้าดินยังไม่เป็นปัญหาหลักในพื้นที่เกษตรกร นอกจากนี้การปลูกแถบกระถินไม่ให้ผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจอย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ยอมรับระบบแถบไม้พุ่มมีความตั้งใจที่จำทำการเกษตรถาวรบนพื้นที่ลาดชัน มองเห็นปัญหาการชะล้างหน้าดิน และมีความมั่นใจต่อผลประโยชน์ระยะยาวของระบบแถบไม้พุ่ม