รายละเอียดบทคัดย่อ


วิเชียร ศศิประภา, ไพรัช ด้วงพิบูลย์, ศศิธร โสภาวรรณ, บุญศรี อินน้อย, พงษ์ศักดิ์ รัตนวราหะ, ปรีชา จำปาเงิน และ วราภรณ ตองแก้ว. 2535. การขยายผลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.248-258.

บทคัดย่อ

         ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการปลุกหม่อนเลี้ยงไหมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ที่ ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง โดยมีเกษตรกรเริ่มสร้างสวนหม่อน 6 ราย พื้นที่รายละประมาณ 5 ไร่ เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยงไหม ปี พ.ศ. 2531 เกษตรกรได้สร้างโรงเรือนต้นแบบจำนวน 4 หลัง ขนาด 4x5 เมตร 2 หลัง ขนาด 6x9 เมตร และ 6x10 เมตร อย่างละ 1 หลัง มูลค่าก่อสร้าง 4,382 บาท 8,278 บาท 12,208 บาท และ 14,683 บาท ตามลำดับ โรงเรือนที่จัดสร้างขึ้นนี้เลี้ยงไหมได้รุ่นละ 2-4 กล่อง ในปี พ.ศ. 2532 เกษตรกรได้ขยายโรงเรือนจากขนาด 4x5 เมตร เป็น 4x9.30 เมตร พอเลี้ยงไหม 3 กล่อง และได้สร้างโรงเรือนใหม่ขนาด 8x12 เมตร เพื่อเลี้ยงไหมรุ่นละ 4-5 กล่อง ค่าก่อสร้าง 23,940 บาท นอกจากนั้นยังขยายพื้นที่ปลูกหม่อนเป็นรายละ 15-25 ไร่ ผลการเลี้ยงตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบันเกษตรกรสามารเลี้ยงไหมได้ปีละ 8-10 รุ่น โดยเริ่มตั้งแต่ พฤษภาคม-มีนาคม ของปีถัดไป แต่ละรุ่นใช้เวลาเพียงประมาณ 25-18 วัน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 25.78 กก./กล่อง ราคาขายรังไหม 97.40-126.60 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังไหม โดยทั่วๆ ไปเกษตรกรมักจะเลี้ยง 3-4 กล่อง/รุ่น ซึ่งเมื่อหักค่าเสื่อมโรงเรือน อุปกรณ์ ค่าขนส่ง แรงงาน ค่าใบหม่อน ค่าไขไหม สารเคมี และอื่น ๆ แล้วจะเหลือกำไรสุทธิระหว่าง 20,464-24,624 บาท/ปี ซึ่งได้ผลตอบแทนที่ช่วยเสริมรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ดังนั้นการขยายผลจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วจากผลการดำเนินกิจงานผ่านไป 3 ปี ขณะนี้มีสมาชิกรวม 67 ราย เนื้อที่ปลูกหม่อนทั้งหมด 1,300 ไร ผลการวิจัยและพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบความสำเร็จนี้ โดยเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรใน ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ได้ถูกนำไปขยายผลที่ ต.พนมทวน อ.พนมทวน จ. กาญจนบุรี และ ต.สะพานหิน อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ซึ่งมีศักยภาพคล้ายคลึงกัน