รายละเอียดบทคัดย่อ


อาแว มะแส. 2533. บทบาทสตรีในกิจกรรมเกษตรของครัวเรือนและการตัดสินใจ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.92-109.

บทคัดย่อ

         การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาบทบาทของสตรีมุสลิมในภาคใต้ ในกิจกรรมการเกษตรของครัวเรือนและการตัดสินใจ โดยเน้นถึงผลกระทบของความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยีทรัพยากรที่มีอยู่ และสภาพปัจจัยพื้นฐานของหมู่บ้าน ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลจาการสำรวจเกษตรกรจำนวน 122 ครัวเรือน จากสองหมู่บ้าน คือ บ้านมะปะ และ บ้านบือแนบาแด ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่สองลักษณะ คือ ระดับการยอมรับข้าวพันธุ์ปรังปรุง และระดับของบริการพื้นฐานที่เกี่ยวกับการเกษตรและตลาด ในการเก็บข้อมูลนั้นได้แบ่งเกษตรกรแต่ละหมู่บ้านออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดเนื้อที่ถือครอง และได้มีการสุ่มตัวอย่างในแต่ละกลุ่ม เพื่อการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วย ได้พบว่าโดยปกติแล้วสมาชิกของครัวเรือนทั้งชายและหญิง ช่วยเหลือกันในเกือบทุกกิจกรรมแต่สัดส่วนของการมีส่วนร่วมนั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละงานตามความรู้สึกของเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้พบอีกว่า การับพันธุ์ปรับปรุง มีผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมของสตรีในบางกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้สตรีมีส่วนร่วมลดลงในการเก็บเกี่ยวข้าว และการนวดข้าวและความเปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อบทบาทของสตรีในการตัดสินใจทั่วไปที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนขนาดของเนื้อที่ถือครองนั้นไม่พบว่ามีผลต่อบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วมในการทำนา ในกิจกรรมเกษตรอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำนา สตรีจะเข้ามาร่วมแตกต่างออกไปในแต่ละพืช และลักษณะของกิจกรรม โดยในการทำสวนยางผู้หญิงจะทำการกรีดยาง ทำยางแผ่นและขายยางเองเสียส่วนใหญ่ ในกรณีที่สวนยางมีขนาดเล็ก และตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวนผลไม้นั้น ในกรณีที่สวนยางมีขนาดเล็ก และตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวนผลไม้นั้น ผู้หญิงจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบด้านการตลาดมากกว่าผู้ชาย ส่วนในการดูแลส่วนนั้นผู้ชายจะเป็นคนทำมากกว่า ในการปลูกผักและพืชไร่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะช่วยเหลือกันในระดับใกล้เคียงกัน แต่ชายจะมีส่วนร่วมมากขึ้นหากการปลูกนั้นเน้นเพื่อขายมากกว่าการบริโภค ส่วนในด้านการเลี้ยงสัตว์นั้น บทบาทของผู้หญิงจะสัมพันธ์กับขนาดของสัตว์ที่เลี้ยง โดยผู้หญิงจะมีส่วนร่วมมากในการดูแลสัตว์เล็กมากกว่าสัตว์ใหญ่ ในการตัดสินใจยอมรับเทคโนโลยีใหม่ เกษตรกรสตรีมีบทบาทน้อยกว่าเกษตรกรชายเสียส่วนใหญ่ ทั้งนี้อาจจะเกี่ยวเนื่องกับวธีการในการส่งเสริมเทคโนโลยีซึ่งเน้นเกษตรกรชายเป็นเป้าหมายสำคัญด้วย