รายละเอียดบทคัดย่อ


อนันต์ พลธานี. 2533. เงื่อนไขลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชไร่ก่อนข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.575-587.

บทคัดย่อ

         การศึกษาเงื่อนไข ทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคมของการปลูกปอแก้วก่อนข้าวที่ จ.ร้อยเอ็ด การปลูกปอคิวบนก่อนข้าวที่ จ.ชัยภูมิ และการปลูกงาก่อนข้าวที่ จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งผลกระทบของระบบดังกล่าวที่มีต่อกิจกรรมทำฟาร์มทั้งหมดของเกษตรกรเพื่อนำเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นสรุปได้ว่า เงื่อนไขทางกายภาพได้แก่ ระดับน้ำใต้ดินพื้นที่ปลูกจะต้องมีระดับน้ำใต้ดินตื้น ห่างจากผิวดินประมาณ 1-1.5 เมตร วันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ก่อนปลูก ซึ่งตามปกติความลึกและตื้นจะแปรผันไปกับช่วงเวลาการหยุดตกของฝนปลายฤดูในแต่ละปี ระดับน้ำใต้ดินจะมีความสำคัญต่อการกระจายความชื้นมาสู่บริเวณรากพืช ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมหลังปลูกถ้าฝนทิ้งช่วงนาน พืชจะสามารถใช้ความชื้นจากระดับน้ำใต้ดินที่ตื้น จึงทำให้พืชมีเสถียรภาพสูง ความชื้นที่ขึ้นมาจากสายน้ำใต้ดินตื้นถ้าระดับลึก 10-15 ซม. ลงไปจากผิวดินวันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้คือระหว่าง Field Capacity (F.C) และ Permanent Wiling Point (P.W.P) และความชื้นที่ระดับลึก 0-15 ซม. จะอยู่ใกล้หรือต่ำกว่า P.W.P จึงจำเป็นที่จะต้องรอฝนตกในเดืนอกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ฝนเริ่มแรกที่ปลูกได้ จะต้องมีปริมาณเพียงพอทำให้ความชื้อหน้าดินเปียกลึกลงไปอย่างน้อย 10-15 ซม. เนื้อดินควรจะเป็นพวกดินทราย ปนดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินร่วน หรือ ดินร่วนปนดินเหนียว ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการไถเตรียมดิน และน้ำฝนสามารถซึมลงในดินชั้นล่างได้ลึกและเร็ว ลักษณะพื้นที่ถ้านาดอนมีความลาดชันจะทำให้ การระบายน้ำดีขึ้น ในกรณีที่มีฝนตกหนัก เงื่อนไขด้านชีวภาพควรมีการไถดะปลายฤดูทิ้งไว้หลังจาก เก็บเกี่ยวข้าว จะช่วยลดปัญหาด้านวัชพืช และจะสามารถปลูกได้เร็วขึ้น ปัญหาโรคและแมลงในปอมีน้อย งาปลูกซ้ำที่เดิมหลายปี จะมีปัญหาโรคเน่าดำ ควรจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับปลูกหมุนเวียน ถ้าไม่มีจะต้องพักดินปลูกระยะหนึ่ง หรือปลูกพืชอื่นหมุนเวียน เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจและสังคม เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ก่อนข้าว มักจะมีที่ดินน้อยหรือไม่มีเลย ถ้ามีที่ดอนจะปลูกพืชในไร่นาก่อน แล้วจึงไปปลูกพืชไร่ในที่ดอน และในบางครั้งจะต้องมีการจัดสรรแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำการฟอกปอควบคู่ไปกับปักดำข้าว เงื่อนไขทางสังคมเกษตรกรจะต้องสามารถไถนาได้ก่อนเดือน 6 (เมษายน) โดยไม่ผิดข้อห้าม ระบบนี้มีผลกระทบต่อกิจกรรมทำฟาร์มอื่น ๆ คือถ้าเกษตรกรมีที่ดอนมาก แรงงาไม่พอจะเกิดการแข่งขันแย่งแรงงานในการปลูกพืชไร่ในที่ดอนการไถนาทิ้งไว้ เดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม หรือไถปลูกในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ในพื้นที่ที่มีความชื้นดี จะเป็นการทำลายแหล่งอาหารของสัตวเลี้ยงเช่น วัว ควาย ในฤดูแล้ง การแช่และฟอกปอในนา ถ้ามีสัดส่วนของปอต่อพื้นที่นามากเกินไป น้ำแช่ปอจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาในนาข้าวระบบนี้ ถ้ามีสัดส่วนของปอต่อพื้นที่นามากเกินไป น้ำแช่ปอจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาในนาข้าวระบบนี้ สนับสนุนกิจกรรมทำฟาร์มอื่น ๆ คือ ลดปัญหาวัชพืชในนาข้าว เศษพืชที่เหลือจะเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินก่อนปักดำข้าวและรายได้จากการขายพืชไร่ก่อนข้าวจะใช้เป็นต้นทุนซื้อปัจจัยในการผลิตสำหรับ ข้าวและใช้จ่ายในครอบครัว