รายละเอียดบทคัดย่อ


ธันวา จิตต์สงวน. 2535. การวางแผนการผลิตเพื่อถาวรภาพทางการเกษตรของไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.33-45.

บทคัดย่อ

         ช่วงเวลาแห่งทศวรรษในปัจจุบัน นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อแนวการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมของโลกและของประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศเริ่มหันมามีการทบทวนหลักการและความเป็นจริง ของแนวการผลิตและการใช้ทรัพยากรในภาคการเกษตรกันใหม่อย่างจริงจัง หลังจากที่ได้ยึดแบบอย่างของการเกษตรกรรมจากการปฏิวัติเขียว (GREEN REVOLUTION) ในช่วงคริสตศักราช 1960 เป็นต้นมา ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มุ่งประเด็นไปที่ความเหมาะสมของแนวการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต ผลกระทบจากการผลิต และที่สำคัญคือถาวรภาพทางการผลิต เพราะภายหลังที่การเกษตรของแทบทุกประเทศทั่วโลกมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตเหมือนกัน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่คล้ายคลึงกัน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการมใช้ทรัพยากรเช่นเดียวกัน มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ก็มาถึงคำถามต่อนักการเกษตรและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า การเกษตรกรรมควรจะมีทิศทางการพัฒนาต่อไปอย่างไรในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นคำถามที่ง่ายในการถามแต่ยากในการตอบให้ชัดเจน ในกรณีการเกษตรกรของประเทศไทย การประสพความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการผลิตแบบ 'ทำมาหากิน' มาเป็นการผลิตแบบ 'ทำมาค้าขาย' ของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศ ทำให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการผลิตเพื่อตอบสนองต่อระบบตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเพื่อการส่งออกเข้ามาทดแทนการผลิตเพื่อครัวเรือนหรือตลาดภายในประเทศ เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ยและสารเคมีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น จนบางครั้งเป็นการใช้ที่เกินความพอดี นำไปสู่ปัญหาหาการเพิ่มของต้นทุนการผลิตและหนี้สินของเกษตรกร นอกจากนี้ยังทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรการเกษตรไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของดินหรือน้ำ มีการเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่อง ประการสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะการผลิตทางการเกษตร ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านเศรษรฐกิจและสังคมของภาคการเกษตรที่มีอยู่เดิม อย่างแทบจะสิ้นเชิง โดยอาศัยการมีส่วนช่วยเร่งของปัจจัยภายนอกจากภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริโภคเช่น การท่องเที่ยวและการพักผ่อนและการหย่อนใจ ทำให้การเปลี่ยนแปลงแนวการผลิตทางการเกษตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่านิยม วิถีชีวิตวัฒนธรรมครอบครัว และโครงสร้างชุมชนในชนบท อย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รูปธรรมที่เกิดขึ้นก็คือการซื้อขายพื้นที่การเกษตรอย่างไร้ขอบเขตและขาดการควบคุม การอพยพของแรงงานเกษตรเข้าสู่เมือง และในที่สุดการล่มสลายของระบบสังคมชนบท อันเป็นแหล่งทำการผลิตของภาคการเกษตรโดยทั่วไป อาจจะกล่าวได้ว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น ไม่มีช่วงเวลาใดที่ภาคการเกษตรได้ก้าวเข้ามาสู่จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่ากับในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการทดสอบครั้งสำคัญว่า การเกษตรของไทยจะยังคงสามารถดำรงอยู่อย่างถาวรต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคมรอบด้านทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ