รายละเอียดบทคัดย่อ


ธวัชชัย ณ นคร. 2535. แนวทางการจัดการดินในระบบการเกษตรยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.82-95.

บทคัดย่อ

         ระบบการเกษตรยั่งยืนในที่นี้หมายถึง 'การจัดการทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อการเกษตรอย่างมีระบบและสัมฤทธิ์ผลสามารถที่จะเอื้ออำนวยความต้องการในผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของประชากรได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะรักษาหรือเพิ่มสมรรถนะในการผลิตของทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานด้วย ทั้งนี้ ไม่ควรเป็นระบบที่จะส่งผลทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง' เนื่องจากเกษตรกรของประเทศไทยเป็นเกษตรกรแบบอาศัยน้ำฝนเสียส่วนใหญ่ คือ ประมาณ 80% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงในการปลูกพืชอันเนื่องมาจากการขาดน้ำในช่วงฤดูปลูกมากทำให้เกษตรกรไม่ค่อยใช้ปัจจัยในการผลิตเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ มีการใช้ปุ๋ยกันน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับธาตุอาหารพืชที่ต้องสูญเสียไปจากระบบใดในฤดูหนึ่ง ๆ นอกจากนี้การใช้ และ/หรือการจัดทรัพยากรการเกษตรในแง่ของการอนุรักษ์ ก็ค่อนข้างที่จะถูกมองข้ามไปอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผลผลิตพืชลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดน้ำ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และเกิดการชะล้างพังทะลายของดิน ปัญหาหลักที่เกี่ยวกับดินในระบบการเกษตรยั่งยืนทั้งสามประการดังกล่าวนี้ หากไม่ได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไข ก็เป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่าความแร้นแค้นอันเนื่องมาจากข้าวยากหมากแพงจะต้องเกิดขึ้น เพราะผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น ในที่นี้จะกล่าวถึงแนวทางการจัดการดินในระบบการเกษตรยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจำเป็นต้องเน้นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดินโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพ การใช้ปุ๋ยเพื่อชดเชยธาตุอาหารพืชที่สูญเสียไปจากระบบ และการใช้วิธีเขตกรรมที่เหมาะสมเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในระดับไร่นา และเพื่อที่จะทำให้มองเห็นภาพรวมการเกษตรของประเทศได้ดีขึ้น ก็จะกล่าวถึงดินและการใช้ที่ดินไว้ ณ ที่นี้ด้วย