รายละเอียดบทคัดย่อ


ปัญจพล บุญชู. 2535. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการยอมรับวิทยาการแผนใหม่สำหรับระบบนาปีของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในหมู่บ้านยากจน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.337-352.

บทคัดย่อ

         วัตถุประสงค์ของการวิจัยคือศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการใช้วิทยาการวางแผนใหม่ในระบบผลิตข้าวนาปีที่เกิดขึ้นระหว่างปีเพาะปลูก 2525/26 และปีการเพาะปลูก 2531/32 ในหมู่บ้านยากจน โดยเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2527 กับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2533 ตัวอย่างที่ใช้ศึกษาประกอบด้วยชาวไทยพุทธ 31 ตัวอย่าง และชาวไทยมุสลิมจำนวน 31 ตัวอย่าง ตัวอย่างได้ด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นจากกลุ่มเกษตรกรที่ได้จากการแบ่งกลุ่มตามระดับการใช้วิทยาการแผนใหม่ในการทำนา ผลการวิจัยความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมพบว่าเกษตรกรทั้งสองศาสนามีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือมีจำนวนครอบครัวที่เป็นเจ้าของเครื่องจักรกลการเกษตรและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในหมู่บ้านยากจนแห่งนี้ อัตราการเพิ่มจำนวนครอบครัวที่มีไฟฟ้าใช้สูงสุด รองลงมาตามลำดับคืออัตราการเพิ่มจำนวนการเป็นเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ รถมอเตอร์ไซด์ รถไถนาเดินตาม จักรเย็บผ้า เครื่องนวดข้าว ตามลำดับ พบว่าประมาณหนึ่งในสี่ของเกษตรกรทั้งสองศาสนามีรายได้จากการทำนาเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็พบว่าจำนวนเกษตรกรที่มีหนี้สิน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ผลการวิจัยการเปลี่ยนแปลงการใช้วิทยาการแผนใหม่ในระบบนาปีพบว่า เกษตรกรทั้งสองศาสนาปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมมากขึ้น แต่อาจเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นทดลองของกระบวนการยอมรับนวัตกรรมเท่านั้น ความนิยมของเกษตรกรที่มีต่อข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวพันธุ์ส่งเสริมเฉพาะบางพันธุ์ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากคือข้าวนางเอกและข้าวพันธุ์ส่งเสริมคือ กข.9 มีจำนวนเกษตรกรใช้ปุ๋ยมากขึ้นและใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น การใช้ยาฆ่าแมลงและการควบคุมวัชพืชยังคงเหมือนเดิม คือมีเกษตรกรเพียงจำนวนน้อยยอมรับ