รายละเอียดบทคัดย่อ


อรุณ อวนสกุล. 2544. การพัฒนาเกษตรยั่งยืน: แนวทางและดัชนีชี้วัด.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.31-49.

บทคัดย่อ

         ผลการศึกษาวิจัยหลายแห่งยืนยันตรงกันว่า ในระยะที่ผ่านมา ภาคเกษตรของไทยมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ผลสำเร็จของการพัฒนาดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ป่าชายเลน ทรัพยากรทางทะเล แหล่งประมง ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยโดยรวม จนเริ่มส่งผลเป็นข้อจำกัดต่อการเพิ่มผลผลิตมวลรวมทางการเกษตร และเริ่มเป็นที่ตระหนักกันแล้วว่า แนวทางการพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมา อาจเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน และจะส่งผลกระทบเป็นข้อจำกัดต่อการเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรและยุวชนเกษตรกรไทยต่อไปหากไม่เร่งรีบแก้ไขนอกจากนั้น ความจำเป็นในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ยังเป็นเพราะประเทศไทยต้องดำเนินการตามข้อตกลงและพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ (Sanitary and Phyto-sanitary หรือ SPS) ตามกรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ได้ใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้ามากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เคยห้ามการนำเข้ากุ้งทะเลจากไทย ที่จับมาโดยมิได้ใช้เครื่องมือที่ช่วยในการอนุรักษ์เต่าทะเล (Turtle Exclusion Devices, TED) หรือห้ามการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องที่ผลิตจากวัตถุดิบปลาทูน่าทีจับในแหล่งอนุรักษ์ปลาโลมา หรือ ประเทศออสเตรเลียห้ามการนำเข้าเนื้อไก่ต้มสุกจากไทยด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยสัตว์ ฯลฯ การใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยเป็นเครื่องมือกีดก้นทางการค้าที่กล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอันเป็นที่มาของแหล่งเงินที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องพัฒนาระบบการผลิต การแปรรูปผลิตผล และการค้าสินค้าเกษตร โดยคำนึงถึงและเกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตามกระแสความต้องการในยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันเหตุผลทั้งสองประการที่กล่าว เป็นมูลเหตุให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายแห่ง ได้กำหนดเป็นนโยบายและดำเนินมาตรการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนในแผนพัฒนาการเกษตรของประเทศที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ได้กำหนดเป้าหมายเร่งรัดการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรแบบธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และวนเกษตร ที่ช่วยอนุรักษ์ดินน้ำและสภาพแวดล้อม และ/หรือระบบการผลิตสินค้าเกษตร/ปศุสัตว์/ประมงสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการขยายผลรูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ให้กระจายไปในตำบลต่าง ๆทั่วประเทศ อันจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป