รายละเอียดบทคัดย่อ


สุวินัย รันดาเว. 2544. การพัฒนาเกษตรยั่งยืน: มิติใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแบบมีส่วนร่วม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.51-72.

บทคัดย่อ

         ในอดีตที่ผ่านมา การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรขาดกระบวนการเชื่อมโยงผลงานวิจัยสู่ชุมชนและพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นระบบ ขาดความต่อเนื่อง และการบริหารจัดการไม่อยู่ในลักษณะของการบูรณาการ ตลอดจนการจัดกิจกรรมและงบประมาณลงพื้นที่มุ่งเน้นการพัฬนาเฉพาะเรื่อง ทำให้ผลงานวิจัยไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้น ชุมชนในท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา การประสานงานระหว่างหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานส่งเสริมไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดช่องว่างของการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น นอกจากนี้ ผลพวงของการพัฒนาที่ผ่านมา ยังก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในระดับที่น่าเป็นห่วงอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่แนวทางแก้ปัญหา ที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มเกษตรกร หันมาให้ความสนใจในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศ ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ มีความปลอดภัย ทั้งแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค และชุมชน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความสอดคล้องกับปัญหาและแนวทางการดำเนินชีวิตของเกษตรกรในชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค นำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ทิศทางดังกล่าว ยังคงเป็นเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545-2548) แต่หันมาให้ความสำคัญโดยกำหนดเป็นจุดเน้นที่กระบวนการทำงานและการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่กับภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิชาการ และกลุ่มเกษตรกรที่เกี่ยวข้องมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดนโยบายให้มีการบูรณาการ 'โครงการ/งาน/กิจกรรม' ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี และการขยายผลไปสู่การปฏิบัติของเกษตรกร มีการระดมทรัพยากรบุคคลและงบประมาณลงในพื้นที่และชุมชนในลักษณะผสมผสาน เช่นการจัดตั้งโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนด้านการเกษตรขึ้น มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ควบคู่กับการพัฒนา เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ ในการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอย่างมีส่วนร่วม จa1ากทุ1กฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและเผยแพร่ข้อมูลเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว และเป็นหน่วยประสานงานระหว่างองค์กรชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐในท้องถิ่น