รายละเอียดบทคัดย่อ


วิริยะ ลิมปินันท์. 2544. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการของงานวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์ม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.107-119.

บทคัดย่อ

         บทความนี้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการของการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่อิงฐานงานวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์มในประเทศไทย ตั้งแต่ในช่วงเเรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2543) โดยอาศัยประสบการณ์ของผู้เขียนเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์/เป้าหมาย ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการในการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย การวิเคราะห์พื้นที่ การบ่งชี้ปัญหาและโอกาส การวางแผนการทดสอบ การทดสอบร่วมกับเกษตรกร การประเมินผลการทดสอบ และการขยายผลการทดสอบ ในด้านวัตถุประสงค์/เป้าหมาย มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมน้อยที่สุด ในส่วนการเลือกพื้นที่เป้าหมาย มักถูกกำหนดจากภายนอกหรือจากหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานเอง แต่ในการตั้งวัตถุประสงค์/เป้าหมายในการทดสอบเทคโนโลยี มีการเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของเกษตรกรมากขึ้น โดยให้เกษตรกรเป็นผู้กำหนด เพราะจะเป็นผู้ปฎิบัติเอง และเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง การเลือกพื้นที่เป้าหมาย มิได้เป็นการเลือกตามอำเภอใจ แต่มีการเลือกให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเเก้ไขปัญหา โดยอาศัยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้พื้นที่ที่เป็นปัญหาและปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้น มีการใช้เทคนิคการซ้อนแผนใสตามวิธีการ 'Agroecosystem analysis' แต่ต่อมามีการใช้โปรแกรคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันว่า 'Geographic information system' มาช่วยหาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แล้วช่วยกำหนดเขตและพื้นที่เป้าหมายและขอบเขต มีการวิเคราะห์ตามลำดับชั้น โดยแบ่งพื้นที่เป้าหมายออกเป็นเขตต่าง ๆ ตามลักษณะและความรุนแรงของปัญหา แล้งเลือกหมู่บ้านที่เป็นตัวแทนของเขตที่มีปัญหามากเพื่อทำการวิเคราะห์ชุมชน ขั้นตอนต่อมา ดำเนินการวิเคราะห์ครัวเรือนประเภทต่าง ๆ และกิจกรรมในครัวเรือน ในการบ่งชี้ปัญหาและโอกาส มีการวิเคราะห์และสรุปข้อมูลร่วมกับเกษตรกร เพื่อหาประเภทครัวเรือนและกิจกรรมที่มีปัญหา มีการวิเคราะห์กระบวนการของกิจกรรมเพื่อหาขั้นตอนที่มีปัญหา แล้ววางแผนแก้ไขจุดบกพร่องร่วมกับเกษตรกรต่อไป สำหรับวิธีการ มีการใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง 'Rapid rural appraisal' เพื่อเก็บข้อมูล ตั้งแต่งการวิเคราะห์ระดับหมู่บ้านลงไปจนถึงการวิเคราะห์กระบวนการของกิจกรรม ต่อมามีการพัฒนาวิธีการที่เกษตรกรสามารถวิเคราะห์หาปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งวิธีการทั้งสองนี้ แต่ละแบบมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย