รายละเอียดบทคัดย่อ


วัฒนะ วัฒนานนท์, วิลาวัลย์ วงษ์เกษม, ไกวัล กล้าแข็ง และ Reinhardt H.Howeler. 2544. การใช้วิธีการแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการพัฒนาและการถ่ายทอดกรรมวิธีแบบยั่งยืนในการปลูกมันสำปะหลัง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.135-150.

บทคัดย่อ

         การปลูกมันสำปะหลังติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และธาตุอาหารสูญเสียไปกับการชะล้างพังทลายของดินในที่ลาดชัน ในขณะที่มันสำปะหลังใช้ธาตุอาหารน้อยกว่าพืชอื่น แต่สูญเสียหน้าดินไปกับการชะล้างพังทลายของดินสูงกว่าพืชอื่น เนื่องจากการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังช้าในช่วงแรก งานวิจัยในอดีตแสดงให้เห็นว่า การใส่ปุ๋ย การเตรียมดินน้อยครั้ง (minimum tillage) การยกร่องขวาง การคลุมดิน (mulchiy) การปลูกพืชแซม และการปลูกพืชแถบ ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดินลงได้ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยอมรับวิธีการเหล่านี้น้อยมาก เพราะเกษตรกรไม่เข้าใจเรื่องการสูญเสียดินจากการชะล้างพังทลายของดินอย่างถ่องแท้ นอกจากนั้น การแนะนำวิธีการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน บางครั้งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น หรือเพิ่มการลงทุน เสียเวลา หรือเปล่าประโยชน์ งานวิจัยที่เกษตรกรมีส่วนร่วม (FPR) เป็นวิธีการที่เกษตรกรสามารถตัดสินใจโดยตรง และพัฒนาวิธีการที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่ในการลดการชะล้างพังทลายของดิน แต่ยังมีส่วนเพิ่มผลผลิตและรายได้อีกด้วย เกษตรกรเลือกวิธีการต่าง ๆ ที่เขาพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์ที่สุดและเหมาะสม โดยเกษตรกรจะทำการทดสอบวิธีการในพื้นที่ด้วยตนเอง โดยร่วมมือกับนักวิชาการและนักส่งเสริม จากผลของการทดสอบ เกษตรกรจะตัดสินใจเองว่าควรจะทดสอบต่อ และพัฒนาวิธีการที่จำเป็น หรือยอมรับวิธีการที่ดีที่สุดนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตน ผลของโครงการนำร่องชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรพร้อมที่จะยอมรับเทคโนโลยี เช่น การปลูกพืชแถบด้วยหญ้าหรือพืชตระกูลถั่ว ซึ่งช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้ สำหรับวิธีการที่เกษตรกรมีส่วนร่วม เป็นวิธีการที่มีประโยชน์ เพราะเกษตรกรนำวิธีการที่ดีไปขยายผล และถ่ายทอดให้เกษตรกรชุมชนหมู่บ้านรอบ ๆ พื้นที่โครงการนำร่อง วิธีการที่ใช้ จะปรับไปตามสภาพแวดล้อม การที่เกษตรกรตัดสินใจด้วยตนเองโดยตรง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี การวางรากฐานเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน