รายละเอียดบทคัดย่อ


สันติ อุทัยพันธุ์ และ ชาญยุทธ มณีพงศ์. 2544. แนวทางระบบการทำฟาร์มในงานส่งเสริมการเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.167-179.

บทคัดย่อ

         การวิเคราะห์พื้นที่ เป็นแนวทางการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ที่จะช่วยให้เข้าในสภาพและเงื่อนไขของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางและแผนพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับเงื่อนไขศักยภาพของพื้นที่ และปัญหาความต้องการของเกษตรกร กาานำแนวทางของงานวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์ม โดยเฉพาะวิเคราะห์พื้นที่ มาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร เกิดจากการร่วมมืออย่างจริงจัง ระหว่างโครงการวิจัยระบบการทำฟาร์ม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2527 ในการจัดทำโครงการทดสอบการปลูกถั่วลิสงหลังนาที่จังหวัดขอนแก่น ผลจากการศึกษาได้รูปแบบการวิเคราะห์พื้นที่เพื่อใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร และได้นำมาขยายผลในการวิเคราะห์ระบบชลประทาน และจัดทำแผนลดข้าวนาปรังทั่วประเทศในปี 2528 การวิเคราะห์พื้นที่ได้มีการพัฒนาวิธีการมาเป็นลำดับ ๆ จนถึง ปี 2530 เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการปรับปรุงแผนและพัฒนาเกษตรกร (คปพ.) ก็ได้กำหนดให้การวิเคราะห์พื้นที่และเกษตรกร เป็นกิจกรรมหลักในการจัดทำแนวทางพัฒนาการเกษตรในระดับตำบลและระดับอำเภอด้วย วิธีการวิเคราะห์พื้นที่ของงานวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์ม ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในงานส่งเสริมการเกษตรในหลายด้าน ได้แก่ ด้านการวางแผนงานส่งเสริมการเกษตร ทั้งในลักษณะแผนกรายพืช แผนส่งเสริมเฉพาะพื้นที่ และแผนส่งเสริมโดยยึดระบบครัวเรือนและสถาบันเกษตรกร ด้านการทดสอบ วิจัยและส่งเสริมการเกษตร ด้านการกำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงระบบแผนและพัฒนาเกษตรกร (คปพ.) โครงการสนับสนุนแผนการผลิตของเกษตรกร (ผกก.) และโครงการปรับปรุงโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และในด้านการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ ผลที่เกิดขึ้นจากการนำแนวทางของงานวิจัยระบบการทำฟาร์ม มาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ 1) ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี เหมาะสมกับสภาพและเงื่อนไขในพื้นที่ และตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของเกษตรกรมากขึ้น 2) ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจสภาพและเงื่อนไขของพื้นที่ และของเกษตรกรดีขึ้น สามารถประเมินความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในแต่ละพื้นที่ได้ถูกต้อง และการจัดสรรงบประมาณแผนงานโครงการและบุคลากรทำได้เหมาะสม 3) ทำให้เห็นความสำคัญต่อการทดสอบเทคโนโลยีในระดับพื้นที่ร่วมกับเกษตรกรมากขึ้น ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และเกษตรกรได้ทราบเงื่อนไขของเทคโนโลยีแต่ละตัว และทราบประเด็นด้านสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกร 4) เจ้าหน้าที่ได้พัฒ?นาความรู้และขีดความสามารถในการทำงาน 5) ผลจากการวิเคราะห์พื้นที่ สามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำแนวทางพัฒนาตำบลและอำเภอ ซึ่งหน่วยงานทุกหน่วยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ปัญหาและข้อจำกัดจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรขาดความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม และขาดทักษะในการวิเคราะห์พื้นที่แลชุมชน บางส่วนขาดความจริงในในการปฏิบัติงาน 2) นโยบายการดำเนินงาน ขาดความต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำข้องมูล ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และขาดนโยบายที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ และ 3) ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์พื้นที่น้อย ขาดการนำข้อมูลไปเชื่อมโยงในการจัดทำแผนของชุมชน การใช้แนวทางของงานวิจัยแลพัฒนาระบบการทำฟาร์ม ในงานส่งเสริมการเกษตรในช่วงต่อไป จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการและวิธีการทำงานในด้านต่าง ๆ คือ 1) การดำเนินงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร 2) การจัดทำแผนชุมนแบบมีส่วนร่วม 3) การทำการเกษตรยั่งยืน และ 4) การดำเนินงานขององค์กรปกครองท้องถิ่นในอนาคต ในการดำเนินงานในช่วงต่อไป ควรมีการพัฒนาความรู้และ9ทักษะของบุคลากร ในการวิเคราะห์พื้นที่และการจัดการข้อมูล และจัดระบบการทำงานเป็นทีม ต้องกำหนดเป็นนโยบายให้มีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ และการผลักดันข้อมูลเข้าสู่ระบบ เป็นข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบล และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์พื้นที่และชุมชน และให้ได้รับรู้ผลการศึกษา ในอนาคต ความจำเป็นในการใช้แนวทางของงานวิจัยและพัฒนาระบบการทำฟาร์มในงานส่งเสริมการเกษตรจะยิ่งมีมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาการเกษตรในอนาคต ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร และการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น การำหนดกรอบของแนวทางและกระบวนการในการปฏิบัติ และการเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาแนวใหม่เป็นสิ่งจำเป็น และต้องการนโยบายระดับสูงสนับสนุน