รายละเอียดบทคัดย่อ


ไชยสิทธิ์ เอนกสัมพันธ์. 2544. ทำไมงานวิจัยและการพัฒนาทรัพยากรที่ดินจึงต้องเป็นแบบมีส่วนร่วม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.305-307.

บทคัดย่อ

         ปัจจุบันความต้องการของมนุษย์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นดินมีมากมายจึงทำให้เกิดการแข่งขันและความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินจนเป็นเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรดินและที่ดินของประเทศ ในอดีตที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยและหาข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดินไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวดิน แผนที่ดิน การจำแนกประเภทดิน การวางแผนการใช้ที่ดิน ตลอดจนข้อมูลในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการดินที่มีปัญหาต่างๆ ทั้งในเรื่องการชะล้างพังทลายของดิน การแก้ไขดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุ และดินเสื่อมโทรมชนิดต่างๆ แต่จากการติดตามและการประเมินผลของกรมฯ ส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์สำหรับฐานข้อมูลเท่านั้น การจะนำไปใช้ในที่นของเกษตรกรโดยตรงยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะการที่จะนำผลงานวิจัยหรือผลการทดลองไปใช้นั้นมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยในแปลงทดลองที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ เมื่อนำวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดจากทดลองไปใช้ในแปลงเกษตรกรขนาดใหญ่แล้ว ผลที่ได้รับอาจจะไม่เป็นไปตามผลการวิจัยจากแปลงทดลองก็ได้ ด้วยผลหลายประการ ดังนั้น ในการทำงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรที่ดินถ้าจะให้ได้ผลจริงๆแล้ว จะต้องร่วมมือกับเกษตรกรทำ โดยคำนึงถึงหลักการในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ 3 ประการคือ 1) ลดความยากจนหรือเพิ่มรายได้ 2) เพิ่มความมั่นคงของอาหารหรือลดการอดอาหาร 3) ป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ