รายละเอียดบทคัดย่อ


อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2544. สิทธิชุมชนของเกษตรกรกับการจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.311-322.

บทคัดย่อ

         ในปัจจุบันนี้กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยต่างออกมาเรียกร้องสิทธิกันมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ในป่า ในแม่น้ำ หรือสิทธิในการทำประมงชายฝั่งจึงเกิดคำถามตามขึ้นมาเสมอๆ ว่า ทำไมชาวบ้านจึงคิดว่าพวกเขามีสิทธิในทรัพยากรเหล่านั้นร่วมกัน ในขณะที่คนอีกบางกลุ่มโดยพาะอย่าวยิ่งกลุ่มคนในภาคราชการหรือกลุ่มคนในเมืองที่อยู่นอกสังคมชนบทกลับคิดว่า ชาวบ้านไม่มีสิทธิ อย่างเช่นในกรณีที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงในแม่น้ำมูลซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล เพราะเข้าใจว่าแม่น้ำ เป็นทรัพยากรสาธารณะและไม่ใช่เป็นทรัพยากรของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือการที่ชาวบ้านลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนด้วยการคัดค้านการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินหรือการสร้างท่อก๊าซก็ตามกรณีต่างๆ เหล่านี้ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะพบว่า พื้นฐานของปัญหาล้วนแล้วแต่เป็นการขัดแย้งในการตีความหมายของสิทธิ หรือการเข้าใจความหมายของสิทธิแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายของสิทธิชุมชนหรือสิทธิของกลุ่มชน เช่น สิทธิชาวนา สิทธิชาวบ้าน และสิทธิของท้องถิ่น ทั้งๆที่เป็นความคิดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ. 2540 อยู่แล้ว โดยให้ความสำคัยกับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากร แต่ด้วยมีความหมายที่ไม่คุ้นเคยมานานในกฏหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายป่าชุมชน เป็นต้น พร้อมๆ กับมีความพยายามผลักดันนโยบายเพื่อให้สิทธิกับเกษตรกรในรูปอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น นโยบายการ ปฏิรูปที่ดินแบบใหม่ นโยบายเกี่ยวกับสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นและประชาสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีแนวโน้มที่แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านสิทธิของชาวนาเพิ่มขึ้นก็ตาม ยังพบว่าเกิดกรณีของการละเมิดสิทธิชุมชนอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิของกลุ่มชนชายขอบ และสิทธิของคนจน ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญควรจะสืบค้นต่อไปจึงมีคำถามอยู่ 2 ด้านคือ ในด้านหนึ่งการอ้างสิทธิตามความหมายที่แตกต่างกันนั้นเกิดขึ้นมากันได้อย่างไร ส่วนในอีกด้านหนึ่งความหมายของสิทธิชุมชนเช่นไรจึงจะส่งเสริมสิทธิของเกษตรกร พร้อมๆ กับพัฒนาการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนและเป็นธรรมด้วย