รายละเอียดบทคัดย่อ


รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์ ธวัชชัย รัตน์ชเลศ บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ . ระบบการผลิตที่เข้มข้นแต่ยั่งยืน กรณีศึกษา การผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกของชมรมผู้ปลูกมะม่วงอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.29-36.

บทคัดย่อ

         ระบบการผลิตที่ยั่งยืน ปัจจุบันได้เน้นที่ความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จากการใช้ปัจจัยทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรจากภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยวหรือเชิงการค้า การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์แนวทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตที่เข้มข้น โดยศึกษาระบบการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกของชมรมผู้ปลูกมะม่วงอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ด้วยวิธีการประชุมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้าใจงานวิจัย สำรวจลักษณะทางกายภาพ สัมภาษณ์ผู้นำ แกนนำ จากสมาชิก จำนวน 70 คน เพื่อเข้าใจการตัดสินใจการผลิต พบว่า สมาชิกชมรมฯ ได้ร่วมกันผลิตมะม่วงเพื่อการค้าต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี เริ่มส่งออกได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันน้ำดอกไม้เป็นพันธุ์ส่งออกที่สำคัญ กลุ่มมีอำนาจการต่อรองด้านราคา ร้อยละ 90 ของสมาชิกทั้งหมดทำสวนมะม่วงเป็นอาชีพหลัก ลดความเสี่ยงด้านราคาด้วยการปลูกพันธุ์รับประทานผลดิบในแปลงเดียวกันกับพันธุ์น้ำดอกไม้ พร้อมทั้งเลือกผลิตนอกฤดู (มกราคม-มีนาคม) เพื่อ หลีกเลี่ยงการแข่งขันของผลผลิตในฤดู ระบบการผลิตที่เข้มข้นแต่ยั่งยืนนั้น ประกอบด้วย 1) การพัฒนาคุณภาพผลให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศผู้ซื้อทั้ง ขนาดผล สีผิวผล รสชาติ ความปลอดภัยจากศัตรูพืช และการตกค้างของสารเคมีในผลผลิต รวมทั้งการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในทุกขั้นตอนของการผลิต 2) มีระบบการผลิตแบบประณีต ที่ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตจากภายนอก 3) มีระบบการบริหารจัดการกลุ่มอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการควบคุมการใช้สารเคมีเกษตรและปุ๋ยของสมาชิก รวมถึงแนวทางการลดการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกวิธีและได้ผลผลิตคุณภาพส่งออก 4) มีการติดต่อกับบริษัทส่งออกเป็นระยะเพื่อทราบข้อมูลที่ทันสมัย และมีตลาดล่วงหน้ารองรับผลผลิตที่ทราบปริมาณชัดเจนทุกปี